กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานทุกหน่วยเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขณะที่ในช่วงวันที่ 22 – 23 เมษายน 2559 จะเกิดพายุคลื่นลมแรงและน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณอ่าวไทย จึงได้ประสานให้เฝ้าระวังค่าความเค็มของน้ำดิบที่ผลิตน้ำประปา รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนมิให้ลักลอบสูบน้ำจากคลองส่งน้ำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ ตลอดจนประสานจังหวัดเฝ้าระวังการปล่อยน้ำเสีย ของชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2559 แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้ติดตามประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อวางแผนการเพาะปลูก ป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งถึงช่วงต้นฤดูฝน ปี พ.ศ. 2559
นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) อำนวยการติดตาม ซักซ้อมการเฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง ครั้งที่ 15/2559 กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 27 จังหวัด 138 อำเภอ 623 ตำบล 4,984 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 6.65 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อีกทั้งจากการติดตามข้อมูลสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงระหว่างวันที่ 22 – 23 เมษายน 2559 จะเกิดพายุคลื่นลมแรงและน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณอ่าวไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าความเค็ม ของน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา กอปภ.ก. จึงได้ประสานให้การประปานครหลวงเฝ้าระวังค่าความเค็มในช่วงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงการสูบน้ำดิบที่มีค่าความเค็มสูงเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำประปา สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก กอปภ.ก. ได้บูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงานปรับเปลี่ยนระบบการจัดสรรน้ำ เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอสำหรับการใช้งานตลอดช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ กอปภ.ก. ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยทหาร และฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่ขอความร่วมมือประชาชนมิให้ปิดกั้นทางน้ำหรือลักลอบสูบน้ำจากคลองส่งน้ำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ เพราะจะส่งผลกระทบ ต่อปริมาณน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา รวมถึงประสานจังหวัดเฝ้าระวังการปล่อยน้ำเสียของชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดการสูญเสียน้ำไปใช้ในการผลักดันน้ำเสีย ซึ่งจากการคาดการณ์ พบว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งในปีนี้จะมีปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับค่าปกติหรือมากกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย ประกอบกับอาจเกิดฝนทิ้งช่วงในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2559 จึงยังคงต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ สำหรับเกษตรกรให้ติดตามประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อวางแผนก่อนทำการเพาะปลูก ป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำที่มีจำกัดอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ติดตามประกาศจากส่วนราชการอย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามคำแนะนำเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่ภาครัฐกำหนด ส่งผลให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งถึงช่วงต้นฤดูฝนปี พ.ศ. 2559
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th