กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
เน้นแนวทางหลัก 5 ประการในการเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุน เพื่อให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
รายงานผลสำรวจโดยเอคเซนเชอร์ (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: ACN) ร่วมกับไมโครซอฟท์ (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: MSFT) เปิดเผยว่า ในยามที่กิจการน้ำมันและก๊าซทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย เน้นการลงทุนอย่างรอบคอบและระมัดระวังทุกบาททุกสตางค์ บริษัทเหล่านั้นมีการใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุนในภาวะที่ราคาน้ำมันและก๊าซมีราคาถูก
ข้อมูลจากการสำรวจซึ่งจัดทำเป็นปีที่ 5 แสดงให้เห็นว่า นับจากนี้ไปอีก 3 - 5 ปี 80% ของกิจการน้ำมันและก๊าซทั่วโลกมีแผนลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล โดย 30% จะลงทุนเท่ากับในปัจจุบัน 36%จะลงทุนมากขึ้นกว่าเดิม และ 14% จะลงทุนมากขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ การลงทุนต่อเนื่องในดิจิทัลเป็นผลมาจากความมั่นใจของผู้ตอบแบบสำรวจว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้องค์กรพัฒนาไปได้ต่อเนื่องด้วยความคล่องตัวมากขึ้นและชาญฉลาดขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจเทรนด์ดิจิทัลในธุรกิจน้ำมันและก๊าซประจำปี 2016 ได้แก่ ธุรกิจน้ำมันระดับสากล หน่วยงานอิสระ และบริษัทขุดเจาะน้ำมัน
มากกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 53% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า ดิจิทัลได้ก่อให้เกิดมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจของตน โดยปัจจุบัน การลดต้นทุนเป็นประเด็นที่ท้าทายมากที่สุด ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยแก้ปัญหา นอกจากนี้ 56% ของผู้ตอบยังระบุว่า คุณประโยชน์ที่ดีที่สุดของเทคโนโลยีดิจิทัลคือการช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น ส่วนหนึ่งในอุปสรรคใหญ่ที่สุดในการชี้วัดคุณค่าของดิจิทัลในเชิงธุรกิจคือการขาดยุทธศาสตร์หรือกรณีศึกษาทางธุรกิจ ไม่ได้เป็นปัญหาเกี่ยวกับตัวเทคโนโลยี
สำหรับการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันมุ่งเน้นที่โมบิลิตี้ โดยเกือบ 3 ใน 5 ของผู้ตอบ (57%) ระบุว่ามีการลงทุนในเทคโนโลยีโมบายล์ เทียบกับสัดส่วนผู้ตอบ 49% ในปีที่แล้ว ถัดมาคือเรื่องการลงทุนในอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) ซึ่งปีนี้มี 44% ของผู้ตอบลงทุน เทียบกับ 25% ในปี 2558 ในส่วนของระบบคลาวด์ ปีนี้มีผู้ตอบ 38% เพิ่มขึ้น 8% จากปีที่แล้ว ดังนั้น ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า การลงทุนการปรับเปลี่ยนไปสู่ด้านบิ๊กดาต้าและอนาลิติกส์มากขึ้น (38%) ด้าน IoT (36%) และด้านโมบายล์ (31%)
ปีนี้นับเป็นครั้งแรกในเอเชียที่เอคเซนเชอร์เผยผลสำรวจพร้อมกันในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทย มีการจัดบรรยายสรุปสำหรับสื่อมวลชนและสาธิตให้เห็นศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลในระบบอนาลิติกส์ โมบิลิตี้ และ IoT ว่ามีบทบาทในธุรกิจค้าปลีกด้านพลังงาน การบำรุงรักษาโรงงาน และการฝึกอบรมบุคลากรอย่างไร
คุณอินทิรา เหล่ามีผล กรรมการผู้จัดการ–กลุ่มธุรกิจพลังงานและทรัพยากร และกลุ่มเทคโนโลยี เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวถึงผลการสำรวจว่า "ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจแสดงให้เห็นพัฒนาการที่น่าสนใจในอาเซียนว่า อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและชาญฉลาดมากขึ้นอย่างไร ช่วยให้ธุรกิจก้าวผ่านความท้าทายทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในปัจจุบันได้อย่างไร ความสามารถในการตัดสินใจที่ดีขึ้นอันเป็นผลพวงมาจากการลงทุนเหล่านี้ ก็นับเป็นปัจจัยที่ช่วยธุรกิจวางตำแหน่งของตนในตลาดได้เหมาะสม รองรับการเติบโตในอนาคต และปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงได้ด้วยการขยายขอบเขตตลาดใหม่ ๆ การสร้างกระแสรายได้ และการปรับโฉมประสบการณ์ของลูกค้าแบบใหม่ถอดด้าม"
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าสองในสาม (66%) ที่ระบุว่าระบบอนาลิติกส์เป็นหนึ่งในศักยภาพที่สำคัญของการปรับเปลี่ยนองค์กร แต่มีเพียง 13% เท่านั้นที่เชื่อมั่นว่าระบบอนาลิติกส์ขององค์กรพัฒนาไปเต็มที่แล้ว ผู้ตอบเกือบสองในสาม (65%) มีแผนจะนำอนาลิติกส์เข้ามาใช้มากขึ้นในช่วงสามปีข้างหน้าเพื่อรองรับความต้องการขององค์กร
มร. เซนทิล รามานี ผู้อำนวยการศูนย์ Internet of Things Center of Excellence ของเอคเซนเชอร์ เล็งเห็นโอกาสมหาศาลในเรื่องนี้ "ศักยภาพการเติบโตของเทคโนโลยี IoT ในอาเซียนมีสูงกว่าที่อื่นมาก เพราะไม่มีระบบหรือกรอบเดิม และเทคโนโลยีดิจิทัลยังสร้างประโยชน์แก่ตลาดอย่างรวดเร็วแม้ตลาดนี้จะมีพื้นที่กว้างขวางมาก อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขึ้นอยู่กับว่ามีการลงทุนในเทคโนโลยี IoT ด้านใด ลูกค้าหลายรายของเอคเซนเชอร์ก็เริ่มได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในระบบอนาลิติกส์และระบบบำรุงรักษาแล้ว"
การสำรวจครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนโดยเอ็คเซนเชอร์และไมโครซอฟท์ จัดทำโดย PennEnergy Research ร่วมกับวารสาร Oil & Gas Journal โดยสำรวจความเห็นและข้อมูลจากผู้ประกอบอาชีพในแวดวงอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซทั่วโลก ที่รวมถึงวิศวกร นักธรณีวิทยา และผู้บริหารในระดับกลางถึงระดับสูง