กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 29 จังหวัด พร้อมประสานจังหวัดสำรวจและตรวจสอบปริมาณน้ำต้นทุนในระดับหมู่บ้านทุกแห่ง หากพื้นที่ใดมีปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ ให้เร่งพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดินให้มีปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำอย่างเพียงพอพร้อมสำรวจภาชนะกักเก็บน้ำกลางประจำหมู่บ้าน กำหนดวงรอบการจ่ายน้ำประจำหมู่บ้านให้สอดคล้องกับการใช้น้ำของประชาชน ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 29 จังหวัด 149 อำเภอ 675 ตำบล 5,327 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 7.11 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 11 จังหวัดได้แก่ น่าน พิจิตร ลำพูน ตาก สุรินทร์ ขอนแก่น ชัยนาท สระบุรี ชลบุรี ตรัง และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี สระแก้ว และจันทบุรี และจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภค บริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 9 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา เพชรบุรี ตราด สตูล กระบี่ นครศรีธรรมราช และหนองบัวลำภู รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดและหน่วยงานทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยดำเนินการสำรวจและตรวจสอบปริมาณน้ำต้นทุนในระดับหมู่บ้านทุกแห่ง เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนการใช้น้ำอุปโภคบริโภคให้เพียงพอจนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2559 หากพื้นที่ใดมีปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ ให้บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่พัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งผิวดินและใต้ดิน พร้อมประสานเครื่องจักรกลสาธารณภัยในการสนับสนุนการจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยแล้ง รวมถึงกำหนดจุดจ่ายน้ำรวมของหมู่บ้าน สำหรับเป็นจุดรองรับน้ำกลางให้ประชาชนอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ สำหรับจังหวัดที่มีสาขาของการประปาส่วนภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางมาตรการรองรับ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปริมาณน้ำดิบไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา รวมถึงจัดวงรอบการนำน้ำไปแจกจ่ายยังจุดจ่ายน้ำกลางประจำหมู่บ้านให้สอดคล้องกับการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างคุ้มค่า
นายฉัตรชัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยทหารแจกจ่ายน้ำแก่ผู้ประสบภัยแล้งโดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ เข้าพื้นที่การเกษตร 46,492,629 ลูกบาศก์เมตร สูบน้ำดิบเข้าระบบการผลิตน้ำประปา 6,511,992,000 ลิตรแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคกว่า 260,862,284 ลิตร ผลิตน้ำแจกจ่ายกว่า 1,104,000 ลิตร พร้อมขับเคลื่อนมาตรการจ้างงานสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยใช้งบประมาณจากเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินวงเงินจังหวัดละ 10 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 28 จังหวัด รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 127,632,564 ล้านบาท แยกเป็น จ้างแรงงาน จำนวน 185,646 คน เป่าล้างบ่อบาดาล จำนวน 3,569 บ่อ ฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น จำนวน 189 รุ่น ขุดลอกแหล่งน้ำ จำนวน 49 โครงการ และซ่อมแซมระบบประปา จำนวน 23 แห่ง เพื่อส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้แก่ชุมชนที่ประสบภัย ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งในทุกมิติ ตลอดจนดำเนินโครงการคลองสวยน้ำใส คนไทยมีความสุข ใน 44 จังหวัด รวม 1,031 โครงการโดยสามารถกำจัดผักตบชวาและวัชพืชต่างๆ จำนวนกว่า 1,369,475.9 ตัน ในพื้นที่ 20,427.9 ล้านไร่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ ส่งผลให้ระบบการไหลเวียนของน้ำการกระจายน้ำและการระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th