กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--สถาบันการบินพลเรือน
ศิษย์การบินหญิงจากสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ร่วมสมัครเข้ารับราชการชั้นสัญญาบัตร เหล่าทหารนักบินของกองทัพอากาศ จำนวน 3 คน เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 ณ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ โดยทั้ง 3 คน ประกอบด้วย น.ส.พชร วรศาสตร์, น.ส.วินท์นิศา บรรจงเกียรติ ศิษย์การบินหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี รุ่นที่ AP - 98 และ น.ส.ชลนิสา สุภาวรรณพงศ์ ศิษย์การบินหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี รุ่นที่ AP - 99
สบพ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการผลิตบุคลากรด้านการบิน มีความมั่นใจว่าศิษย์การบินที่สำเร็จการศึกษาจาก สบพ. ที่ไปสมัครในตำแหน่งนักบินหญิงของกองทัพอากาศ ทั้ง 3 คน มีคุณสมบัติตามที่กองทัพอากาศต้องการอย่างแน่นอน เนื่องจากหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีที่ สบพ.ทำการฝึกให้กับศิษย์การบินเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และได้รับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ศิษย์การบินจะต้องมีชั่วโมงบินอย่างน้อย 200 ชั่วโมงบิน โดยแบ่งเป็นการทำการบินกับครูการบินที่มีประสบการณ์สูงของ สบพ. 110 ชั่วโมงบิน, ทำการบินเดี่ยว (Solo) 90 ชั่วโมงบิน และทำการบินกับเครื่องฝึกบินจำลอง (Synthetic Flight Training) 20 ชั่วโมง อีกทั้งศิษย์การบินของ สบพ.ทุกคนก่อนเข้าเป็นศิษย์การบินต้องผ่านเกณฑ์การตรวจคัดเลือกศิษย์การบินให้ได้มาตรฐานทางการแพทย์ ชั้น 1 (Class 1 Medical Assessment) และต้องผ่านการทดสอบความสามารถทางภาษาอังกฤษผู้ประจำหน้าที่ (ICAO English Language Proficiency Test) ไม่ต่ำกว่า Level 4 ก่อนจะได้รับใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่นักบินพาณิชย์ตรี (CPL) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยด้วย
สำหรับการรับสมัครบุคคลพลเรือนหญิงเพื่อรับราชการในกองทัพอากาศ เป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตร เหล่าทหารนักบินในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกองทัพอากาศไทยที่เปิดโอกาสให้บุคคลพลเรือนหญิง เข้ารับราชการในตำแหน่งนักบิน โดยมีเหตุผลหลักในเปิดรับสมัครในครั้งนี้ว่าเป็นการเปิดกว้างให้กับเพศหญิง ปัจจุบันมีผู้หญิงให้ความสนใจเรียนหลักสูตรนักบิน และมีนักบินหญิงเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในกองทัพอากาศประเทศอื่นๆก็มีนักบินที่เป็นผู้หญิงมานานแล้ว โดยปี 2559 นี้จะเปิดรับสมัครนักบินหญิงจำนวน 5 อัตรา ในส่วนขั้นตอนการสอบนั้น แบ่งออกเป็น 2 หมวด คือภาควิชาการ และการทดสอบทางการแพทย์ สมรรถนะทางร่างกาย ความถนัดทางวิชาชีพ และหัวใจสำคัญของการเป็นนักบินหญิง จะต้องทดสอบความเข้มแข็งทางด้านจิตวิทยา และเมื่อผ่านการทดสอบ จะต้องเข้าโรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับหมวด ก่อนเข้าสู่กระบวนการฝึกทางทหาร ทั้งการฝึกยังชีพในป่า การเรียนรู้สรีระทางการบิน ทั้งภาคพื้น และภาคอากาศ คาดการณ์ว่านักบินหญิงชุดแรกนี้จะสามารถเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ในช่วงต้นปี 2560 โดยการทำการบินกับเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศ