กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--NBTC Rights
จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 9/2559 : รายงานผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการเลขหมายโทรคมนาคมประจำปี 2558, รายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวประจำปี 2558, คำพิพากษาคดีผู้บริโภคฟ้อง กสทช. อันเนื่องมาจากการแก้ไขเรื่องร้องเรียนล่าช้า, คำพิพากษาคดีเอไอเอสฟ้องคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองกรณีพิพาทเรื่องกำหนดวันหมดอายุของผู้ใช้ Pre-paid, คำพิพากษาคดี บมจ. ทีโอทีฟ้องมติ กทค. ที่ไม่อนุมัติให้ขยายระยะเวลาใช้คลื่นย่าน 470 MHz, ไทยคมขอเพิ่มบริการขายต่อบริการรับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมแบบ Transmission Platform, พิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินจัดประมูลคลื่นย่าน 900MHz
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 9/2559 วันพุธที่ 27 เมษายน 2559 วาระที่น่าจับตาส่วนใหญ่เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยส่วนหนึ่งเป็นรายงานผลการศึกษาประจำปี ได้แก่ รายงานผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการเลขหมายโทรคมนาคม ประจำปี 2558 และรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวประจำปี 2558 และอีกส่วนหนึ่งเป็นการรายงานผลการพิพากษาคดีให้ที่ประชุม กทค. รับทราบ ได้แก่ คดีผู้บริโภคฟ้อง กสทช. อันเนื่องมาจากการแก้ไขเรื่องร้องเรียนล่าช้า คดี บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ฟ้องคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองกรณีพิพาทเรื่องการกำหนดเงื่อนไขวันหมดอายุของผู้ใช้บริการประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า (Pre-paid) และคดี บมจ. ทีโอทีฟ้องมติ กทค. ที่ไม่ขยายระยะเวลาใช้คลื่น 470 MHz
ส่วนวาระเพื่อพิจารณาที่น่าสนใจในการประชุมครั้งนี้ มีเรื่องไทยคมขอเพิ่มบริการขายต่อบริการรับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมแบบ Transmission Platform และเรื่องพิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการจัดประมูลคลื่นย่าน 900 MHz ที่จะมีการจัดประมูลกันอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้
วาระรายงานผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการเลขหมายโทรคมนาคมประจำปี 2558
สำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการเลขหมายโทรคมนาคมประจำปี 2558 ให้ที่ประชุม กทค. รับทราบ โดยในปีที่ผ่านมามีการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่จำนวน 1,128,000 เลขหมาย บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 12,340,000 เลขหมาย เลขหมายโทรศัพท์ที่มีเลขหมายนำกลุ่ม 4 หลัก จำนวน 10,000 เลขหมาย และเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 4 หลัก จำนวน 36 เลขหมาย
สำหรับประเด็นน่าสนใจในรายงานฉบับนี้อยู่ที่เรื่องแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวที่สำนักงาน กสทช. เคยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาสภาพตลาดและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ เพื่อเตรียมการรองรับความต้องการใช้เลขหมายโทรคมนาคมในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยผลการศึกษาดังกล่าว สำนักงาน กสทช. ได้มีการนำเสนอให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบกับแนวทางการปรับปรุงแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวโดยเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่จาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก ด้วยการเพิ่มเลข 1 หลังเลข 0
แนวทางนี้จะทำให้มีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมทั้งสิ้น 760 ล้านเลขหมาย ประกอบด้วยเลขหมายที่เพิ่มขึ้น 500 ล้านเลขหมาย และเลขหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน 260 ล้านเลขหมาย ส่วนเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่จะมีทั้งสิ้น 100 ล้านเลขหมาย ประกอบด้วยเลขหมายที่เพิ่มขึ้น 50 ล้านเลขหมาย และเลขหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน 50 ล้านเลขหมาย โดยทางเลือกนี้แม้จะไม่กระทบกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ก็จะกระทบกับผู้ให้บริการโทรศัพท์ประจำที่ที่ใช้ชุมสายระบบเก่าที่ต้องปรับเปลี่ยนระบบ อย่างเช่น บมจ. ทีโอที ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้มีข้อแนะนำให้สำนักงาน กสทช. จัดทำแผนการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้มีต้นทุนในการปรับเปลี่ยนโครงข่ายน้อยที่สุด
วาระรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวประจำปี 2558
ประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่เข้าข่ายตามประกาศมีหน้าที่ต้องรายงานพฤติการณ์และสถานภาพการครอบงำกิจการให้ กสทช. ทราบ ซึ่งรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวประจำปี 2558 นี้ ตรวจสอบพบว่า มีผู้รับใบอนุญาตที่ต้องปฏิบัติตามทั้งสิ้น 71 ใบอนุญาต แบ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สองที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง 10 ใบอนุญาต, ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม 38 ใบอนุญาต, ผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศและบริการชุมสายอินเทอร์เน็ตแบบที่สองที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง 13 ใบอนุญาต, ผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบที่สาม 7 ใบอนุญาต, และผู้ได้รับสัมปทาน 3 ใบอนุญาต
ทั้งนี้ ผลในเบื้องต้นไม่พบว่ามีผู้รับใบอนุญาตที่มีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงว่าอาจก่อให้เกิดการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว และไม่ปรากฏหลักฐานโดยมีเหตุอันสมควรว่าผู้รับใบอนุญาตรายใดมีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศ อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช. ก็ได้นำเสนอถึงปัญหาอุปสรรคในการตรวจสอบไว้ด้วยว่า ที่ผ่านมาผู้รับใบอนุญาตมักจัดส่งข้อมูลเอกสารไม่เพียงพอต่อการพิจารณาของสำนักงาน กสทช. และบางรายก็ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศอย่างครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน กสทช. ก็อยู่ในระหว่างการยกร่างประกาศฉบับใหม่ขึ้นมา โดยหวังจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว
วาระคำพิพากษาคดีผู้บริโภคฟ้อง กสทช. อันเนื่องมาจากการแก้ไขเรื่องร้องเรียนล่าช้า
วาระนี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมรายงานให้ที่ประชุม กทค. ทราบถึงคำสั่งศาลปกครองกลางไม่รับพิจารณาคำฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ กรณีผู้บริโภครายหนึ่งยื่นฟ้อง กสทช. ฐานละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร รวมถึงออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นกับผู้บริโภค
ต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้เคยร้องเรียน บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น มายังสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 มูลเหตุจากถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริมทั้งที่ไม่ได้สมัครตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2554 จนถึงมีนาคม 2555 จึงร้องเรียนขอให้บริษัทที่เป็นผู้ให้บริการคืนเงินและชี้แจงถึงสาเหตุที่มีการคิดค่าบริการผิดพลาด ต่อมาสำนักงาน กสทช. ได้แจ้งกับผู้ฟ้องคดีว่าได้รับคำชี้แจงจากผู้ให้บริการว่ามีการคิดค่าบริการเสริมจริงและได้ดำเนินการคืนเงินให้กับผู้ใช้บริการแล้ว แต่ผู้ฟ้องได้ทำหนังสือคัดค้านลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ว่าไม่เคยได้รับการติดต่อเรื่องการคืนเงินแต่อย่างใด กระบวนการแก้ไขเรื่องร้องเรียนกรณีนี้ยืดเยื้อจนกระทั่งสำนักงาน กสทช. ได้นำเรื่องเสนอต่อที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 โดยที่ประชุมมีมติให้ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็สฯ แสดงหลักฐานการสมัครและการคืนเงินผู้ใช้บริการ ซึ่งปรากฏว่าบริษัทฯ ยังคงชี้แจงเช่นเดิมและไม่ได้แสดงหลักฐานเพิ่มเติมแต่อย่างใด จนสุดท้ายผู้บริโภครายนี้เห็นว่าการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. ไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งในระหว่างนั้นก็มีข้อสังเกตว่ากระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ กสทช. ไม่เป็นธรรม เพราะมีการกำหนดให้ผู้ให้บริการสามารถยื่นชี้แจงข้อเท็จจริงได้ภายใน 15 วัน แต่กลับกำหนดให้ผู้บริโภคที่ร้องเรียนชี้แจงได้ภายใน 7 วันเท่านั้น จึงตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็สฯ คืนเงินค่าบริการที่คิดผิดพลาดพร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งขอให้สำนักงาน กสทช. แก้ไขระเบียบปฏิบัติที่ทำให้เกิดความล่าช้าและไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ด้วยเหตุผลว่าผู้ฟ้องนำคดีที่ฟ้อง กสทช. มายื่นฟ้องต่อศาลพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องยื่นฟ้องศาลปกครองกลางภายใน 90 วัน นั่นแปลว่าผู้ฟ้องจะต้องยื่นฟ้องภายใน 31 ธันวาคม 2555 ส่วนการขอให้บริษัทฯ คืนเงินค่าบริการที่คิดเกินไปนั้น ศาลเห็นว่าเป็นคดีความทางแพ่ง ไม่ใช่คดีปกครอง ขณะที่การขอให้แก้ไขระเบียบปฏิบัติให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ศาลพิจารณาตามคำให้การของสำนักงาน กสทช. ว่า การพิจารณาเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามประกาศ กทช. เรื่องกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนฯ ซึ่งไม่มีกำหนดระยะเวลาให้คู่กรณีชี้แจงข้อเท็จจริง จึงเป็นการกำหนดตามความเหมาะสม ประกอบกับผู้ฟ้องไม่ได้แนบระเบียบเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องร้องเรียนมาพร้อมคำฟ้องด้วย จึงรับฟังได้ว่าไม่มีวัตถุแห่งคดี ในประเด็นนี้ศาลจึงไม่อาจรับฟ้องได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี ผู้ฟ้องคดียังสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน
วาระนี้แม้เป็นเพียงเรื่องเพื่อทราบ แต่เป็นวาระที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะหากนับเนื่องระยะเวลาจากวันแรกที่ผู้บริโภคนำปัญหามาร้องเรียนที่สำนักงาน กสทช. จนถึงปัจจุบัน พบว่ากินระยะเวลานานกว่า 4 ปี โดยที่ปัญหาเดือดร้อนของผู้บริโภคยังคงค้างคาไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งสะท้อนชัดถึงการขาดประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมที่เป็นอยู่จริง จนสื่อประชาสัมพันธ์ของ กสทช. ที่ว่าตระหนักถึงภารกิจคุ้มครองผู้บริโภคอาจกลายเป็นเพียงเรื่องแต่งที่ไม่สมจริง
วาระคำพิพากษาคดี บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ฟ้องคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองกรณีพิพาทเรื่องกำหนดวันหมดอายุของผู้ใช้ Pre-paid
วาระนี้สำนักงาน กสทช. รายงานผลคำพิพากษาคดีของศาลปกครองกลางที่พิพากษายกฟ้องคดีที่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ฟ้องคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองกรณีพิพาทเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขวันหมดอายุการใช้บริการของผู้ใช้บริการประเภท Pre-paid ซึ่งขัดกับประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม ข้อ 11 ที่กำหนดให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมในลักษณะโทรศัพท์เคลื่อนที่เรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้า (Pre-paid) จะต้องไม่มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่ผู้ให้บริการจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า โดยเรื่องนี้สำนักงาน กสทช. ได้เคยมีหนังสือลงวันที่ 25 เมษายน 2554 ให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนในกรณีที่มีการกำหนดเงื่อนไขวันหมดอายุของเงินที่เต็มเข้าในระบบ และในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 ก็ได้มีคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งบริษัทฯ ได้อุทธรณ์มาตรการบังคับทางปกครองดังกล่าวต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2555 อย่างไรก็ดี ภายหลังที่สำนักงาน กสทช. หารือกับกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในที่สุด กทค. ก็มีมติเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 เห็นชอบแนวทางปฏิบัติตามที่ผู้ให้บริการเสนอ โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ในการเติมเงินเข้าสู่ระบบทุกมูลค่า จะได้รับวันใช้งานไม่น้อยกว่า 30 วัน ถึงกระนั้น ผู้ให้บริการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายก่อนหน้านี้ยังคงมีภาระที่ต้องชำระค่าปรับวันละ 100,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 จนถึงวันที่ 24 มกราคม 2556 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติตามคำสั่ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 24 ล้านบาท
สำหรับเหตุผลที่ศาลปกครองกลางยกฟ้องในคดีนี้ เพราะศาลเห็นว่า คำสั่งชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามประกาศเรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม การที่สำนักงาน กสทช. ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 สั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนดังกล่าว รวมทั้งกำหนดค่าปรับทางปกครอง จึงเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง อีกทั้งการกำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท ถือว่ามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการได้รับจากการกระทำที่ฝ่าฝืนดังกล่าว
วาระคำพิพากษาคดี บมจ. ทีโอทีฟ้องมติ กทค. ที่ไม่อนุมัติให้ขยายระยะเวลาใช้คลื่นย่าน 470 MHz
วาระนี้สืบเนื่องจากที่ กทค. เคยมีมติเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ไม่อนุมัติให้ บมจ. ทีโอที ขยายระยะเวลาใช้คลื่นความถี่ย่าน 470 MHz เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการโทรศัพท์ประจำที่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล อย่างไรก็ตาม บมจ. ทีโอที อ้างสิทธิว่าได้รับอนุญาตจากกรมไปรษณีย์โทรเลขให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 470MHz ตั้งแต่สมัยที่ยังมีสถานะเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด ดังนั้นจึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติ กทค. ดังกล่าว
ที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีนี้ ด้วยเหตุผลโดยสรุปว่า กสทช. มีอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งการกำหนดให้คืนคลื่นความถี่ถือเป็นการคืนโดยผลของกฎหมาย ดังนั้นการที่ กสทช. ไม่ขยายระยะเวลาการใช้คลื่นย่าน 470 MHz จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และมติดังกล่าวยังคงมีผลโดยสมบูรณ์ต่อไป
คำพิพากษานี้จึงนับว่าเป็นการวางบรรทัดฐานเรื่องการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่สำคัญอีกวาระหนึ่ง
วาระไทยคมขอเพิ่มบริการขายต่อบริการรับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมแบบ Transmission Platform
วาระนี้เป็นเรื่อง บมจ. ไทยคม ขอเพิ่มบริการขายต่อบริการรับ-ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมแบบTransmission Platform ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาตในลักษณะให้บริการแบบครบวงจร (One Stop Shop) โดยบริษัทฯ จะซื้อบริการดังกล่าวจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ได้รับอนุญาต เช่น บมจ. กสท โทรคมนาคม หรือ บจ. ทีซี บรอดคาสติ้ง ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรับ-ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม (Satellite Uplink/ Downlink Teleport)
ประเด็นที่น่าสังเกตคือ บจ. ทีซี บรอดคาสติ้ง เป็นบริษัทในเครือ บมจ. ไทยคม จึงเท่ากับ บมจ. ไทยคม จะเป็นผู้ให้บริการในบริการดาวเทียมแบบครบวงจร กทค. จึงต้องพิจารณาว่าลักษณะรูปแบบทางธุรกิจเช่นนี้เป็นการผูกขาดกิจการโดยพฤตินัยหรือไม่ นอกจากนี้ การที่ บมจ. ไทยคม ขอเพิ่มบริการดังกล่าวภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่งนั้น จะเป็นการหลีกเลี่ยงการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตด้วยหรือไม่
วาระพิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินจัดประมูลคลื่นย่าน 900 MHz
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เสนอขออนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่จะจัดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 จำนวน 18.5 ล้านบาท จำแนกเป็นค่าจ้างเหมาบริการเพื่อจัดงานด้านสถานที่ อาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวก 5.5 ล้านบาท ค่าใช่จ่ายด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบกล้องวงจรปิด 3 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการประมูลใบอนุญาต 10 ล้านบาท ข้อที่น่าสังเกตคือ ค่าใช้จ่ายใน 2 รายการหลังกำหนดไว้สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่านเดียวกันนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งที่ควรจะถูกลง เพราะกระบวนการต่างๆ กระชับขึ้น เช่นไม่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว เป็นต้น ทั้งนี้ ค่าใช้จ่าย 2 รายการหลังในการจัดประมูลครั้งที่แล้วอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท และ 8 ล้านบาท ตามลำดับ นั่นคือกรอบวงเงินของ 2 รายการนี้กำหนดไว้สูงกว่าค่าใช้จ่ายจริงเมื่อครั้งที่แล้วถึง 3.5 ล้านบาท หรือ 36.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง สำนักงาน กสทช. ก็ไม่ได้ชี้แจงถึงเหตุผลที่กำหนดกรอบวงเงินไว้สูงขึ้นและไม่ได้แสดงรายละเอียดของรายจ่ายมาให้ กทค. ประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด