กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--
หากอยู่ๆ ท่านหรือคนใกล้ชิดที่อยู่ในวัยสูงอายุของท่าน เริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย เป็นลมหมดสติ หรือแน่นหน้าอก นี่อาจเป็นสิ่งบ่งบอกว่ากำลังมีปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจตีบ และควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด
อาการลิ้นหัวใจตีบ มีชนิดหนึ่งที่เกิดจากการตีบของลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายและหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่าลิ้นหัวใจเอออติกส์ (Aortic Valve) ซึ่งส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ และหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เสียชีวิตในระยะเวลา 2-5 ปี
นพ.วัธนพล พิพัฒนนันท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลระบบการทำงานของหัวใจว่า โดยปกติแล้ว หัวใจฝั่งขวาจะรับเลือดจากเส้นเลือดดำแล้วส่งไปฟอกที่ปอด จากนั้นเลือดดีจากปอดก็จะถูกส่งมาที่หัวใจฝั่งซ้าย โดยหัวใจห้องล่างซ้ายจะเป็นห้องสุดท้ายที่สูบฉีดเลือดไปยังหลอดเลือดแดงใหญ่แล้วกระจายไปยังทั่วร่างกาย ซึ่งลิ้นหัวใจเอออติกส์ ก็เปรียบเหมือนวาล์วน้ำที่กั้นปั้มน้ำกับท่อเมน และเมื่อสูงอายุขึ้น ลิ้นหัวใจเอออติกส์ ก็มีโอกาสตีบจากการมีหินปูนเกาะสะสมหรือเกิดจากการเสื่อมถอยของอายุ
ที่สำคัญ อาการลิ้นหัวใจเอออติกส์ตีบ มีปัจจัยจากความชราของร่างกาย ดังนั้นจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนทั้งชายและหญิง หรือไม่ว่าจะมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ระมัดระวังสุขภาพเพียงใดก็ตาม
นพ.วัธนพล ให้ข้อมูลอีกว่า โรคลิ้นหัวใจตีบชนิดนี้ ผู้ป่วยจะไม่ทราบจนกว่าจะมีการตรวจร่างกายอย่างละเอียด แต่สามารถสังเกตอาการได้ เช่น มีอาการเหนื่อยง่าย อันเนื่องมาจากภาวะหัวใจวาย (Heart Failure) ซึ่งไม่ได้หมายถึงหัวใจหยุดเต้น แต่เป็นอาการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างพอเพียง ซึ่งหากเกิดกับหัวใจฝั่งซ้ายก็จะทำให้เกิดอาการน้ำท่วมปอด รวมถึงอาการแน่นหน้าอก เป็นลมหมดสติ อาจเป็นอาการที่เกิดจากลิ้นหัวใจเอออติกส์ตีบก็ได้
"โดยทฤษฎีแล้ว หากมีอาการเหนื่อยง่าย อาการเหมือนน้ำท่วมปอด ก็อยู่ได้ประมาณ 2 ปี ถ้าเป็นลมหมดสติก็อยู่ได้ประมาณ 3 ปี ถ้าแน่นหน้าอกก็อยู่ได้ประมาณ 4-5 ปี"นพ.วัธนพล กล่าว
ทั้งนี้ วิธีมาตรฐานในการรักษาลิ้นหัวใจเอออติกส์ตีบในขณะนี้ คือการผ่าตัดเปิดช่องอกเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจอันใหม่เข้าไป โดยใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 3-4 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ยังมีทางเลือกอีกวิธี คือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมทางสายสวนหรือ TAVI (Transcatheter Aortic Valve Implantation) โดยการใช้ท่อสอดลิ้นหัวใจใหม่เข้าไปทางเส้นเลือดแดง คล้ายๆ กับการทำบอลลูน เมื่อสอดท่อที่บรรจุลิ้นหัวใจใหม่ไปจนถึงบริเวณที่ตีบแล้ว ก็ปล่อยให้ลิ้นเทียมกางออก กลายเป็นลิ้นหัวใจอันใหม่ ข้อดีของวิธีนี้คือไม่ต้องผ่าตัดใหญ่เพื่อเปิดช่องอก มีแผลเล็กๆบริเวณขาหนีบหรือหน้าอกซ้าย ผู้ป่วยก็จะฟื้นตัวได้เร็วกว่า
นพ.วัธนพล ให้ข้อมูลว่า วิธีการรักษาแบบ TAVI นี้ จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดใหญ่ เช่น ร่างกายไม่แข็งแรง มีโรครุมเร้า หรืออาจทนต่อการดมยาสลบไม่ไหว ซึ่ง TAVI จะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้มากกว่า
สำหรับวิธีการรักษาด้วยเทคนิค TAVI จะต้องดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ซึ่งผู้ป่วยรายใดจะรักษาโดยใช้เทคนิคนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทีมแพทย์ โดยดูจากระดับความรุนแรงของอาการตีบ หากถึงขั้นตีบระดับ 3 คือ ตีบรุนแรง ลิ้นหัวใจแทบไม่เปิดเลย เปรียบเหมือนวาล์วน้ำ ถ้าไม่เปิด เลือดก็สูบฉีดไม่ได้ และมีความเสี่ยงทนการผ่าตัดไม่ไหว ก็จะใช้ เทคนิค TAVI ในการรักษาแทน ซึ่งจากการติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยเทคนิค TAVI พบว่าได้ผลดี ไม่มีอาการแทรกซ้อน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นพ.วัธนพล ย้ำว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุ กล่าวคือ มีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และแนวโน้มการเจ็บป่วยด้วยอาการลิ้นหัวใจเอออติกส์ตีบก็จะมีเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้สูงอายุควรตรวจสุขภาพ เช็คการทำงานของหัวใจอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้พัฒนาทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาด้วยเทคนิค TAVI ทั้งศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ ตลอดจนทีมวิสัญญีแพทย์และทีมพยาบาล เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาแก่ผู้มีอาการลิ้นหัวใจเอออติกส์ตีบ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 02-667-1000 หรือ อีเมล์info@bumrungrad.com