กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา จัดอบรมพัฒนาศักยภาพการให้บริการห้องสมุดโรงเรียน ตชด. หวังเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้กับเยาวชน ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
น.ส.ปิยกุล บุญญาศรีรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายงานวิทยบริการ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการให้บริการห้องสมุดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เมื่อเร็วนี้ๆ ว่า เพื่อพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านห้องสมุด เช่น การใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมพิมพ์ดีด ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้กับเยาวชน ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยทรงเห็นว่าการที่จะปลูกฝังให้เด็กนักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน การค้นคว้าและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่องได้นั้น จำเป็นจะต้องมีแหล่งเรียนรู้ที่ดีและสามารถเข้าถึงได้ง่าย การจัดห้องสมุดโรงเรียนจึงเป็นแนวทางที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยในการอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม 30 คน ประกอบด้วยครูและบุคลากรผู้รับผิดชอบดูแลห้องสมุดโรงเรียนตำรวจ ตชด. จำนวน 7 แห่ง รับฟังการบรรยายและฝึกปฏิบัติในหัวข้อ การจัดบรรยากาศห้องสมุดให้เอื้อต่อการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริการในห้องสมุดโรงเรียนวิทยากรโดย น.ส.ปิยกุล บุญญาศรีรัตน์ และ ผศ.ดร.อำนาจ ทองขาว ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการฯ
น.ส.ปิยกุล กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานของห้องสมุดมากขึ้น มีการพัฒนารูปแบบการให้บริการที่หลากหลาย เพื่อการบริการที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนเปิดโลกทัศน์ในการค้นหาความรู้ใหม่ๆ จากอินเทอร์เน็ต ฝึกฝนการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปที่จำเป็นสำหรับการประยุกต์ใช้สืบค้นข้อมูล เพื่อการติดต่อสื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ในฐานะที่ มรภ.สงขลา เป็นหน่วยดำเนินการหลักเกี่ยวกับการเพิ่มโปรแกรมพิมพ์ดีดลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน ตชด. ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนั้น สำนักวิทยบริการฯ จึงได้จัดการอบรมดังกล่าวขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาและยกระดับคุณภาพห้องสมุดโรงเรียน ตชด. ให้เป็นห้องสมุดที่มีมาตรฐาน ส่งผลให้นักเรียน ครู และประชาชนในชุมชน รักการอ่านและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน