เยาวชนไทยโชว์ผลงานป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมสุดเจ๋ง

ข่าวทั่วไป Wednesday April 27, 2016 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชัน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดงานประชุมวิชาการการนำเสนอผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ระดับโรงเรียน ประจำปี 2559 เน้นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนอย่างเป็นระบบ และเป็นมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชน ดร.กุศลิน มุสิกุล รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า สสวท. ได้จัดงานประชุมวิชาการ "การนำเสนอผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ระดับโรงเรียน ประจำปี 2559" ที่โรงแรมใบหยกสกาย กรุงเทพฯ ซึ่งกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (STEM Education) ผลงานวิจัยสิ่งแวดล้อมที่เข้าร่วมนำเสนอในงาน รวมทั้งหมด 44 ชิ้นงาน อาทิ BCC Nitro Product ชุดผลิตภัณฑ์และแอพลิเคชั่นสำหรับเพิ่มธาตุไนโตรเจนในดินแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ไบโอแอคทีฟพลาสติกจากโพโคลิเมอร์มิวสิเลจดัดแปลงจากโครงสร้าง ชอล์กไล่หนูจากยี่โถ ระยะห่างจากแนวป่าชายเลนมีผลต่อชนิดและความชุกชุมของลูกน้ำยุงจังหวัดนครศรีธรรมราช พืชบำบัดคุณภาพน้ำ เครื่องกลั่นน้ำเสียจากการทำแผ่นยางดิบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การศึกษาอิทธิพลของใบรางจืดที่มีผลต่อการลดปริมาณสารตกค้างในดิน เป็นต้น โดยมีการนำเสนอผลงานทั้งแบบปากเปล่า และแบบโปสเตอร์ โดยผลงานเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลมูลค่ารวม 200,000 บาท ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่มนุษย์ทั้งโลกกำลังเผชิญร่วมกัน สสวท. จึงได้กระตุ้นให้เยาวชนไทยสืบเสาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นำมาสู่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ซึ่งแต่ละปีจะมีผลงานวิจัยของเยาวชนไทยในโครงการ GLOBE จากทุกภูมิภาค ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ซึ่งสะเต็มศึกษาเป็นแนวทางที่ถูกนำมาใช้บูรณาการองค์ความรู้เหล่านี้ เพื่อหาคำตอบและแก้ปัญหา ทั้งนี้ สสวท. ได้ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบแก่เยาวชนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เยาวชนมีความรักในสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ อธิบายได้ด้วยเหตุผล และข้อมูลต่างๆ ที่จัดเก็บ และศึกษาวิจัยร่วมกัน ดร.กุศลิน กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนให้นักเรียนได้ทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ได้มานำเสนอผลงานวิจัย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานวิจัยของนักเรียนร่วมกับนักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆ รวมทั้งได้รับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากนักวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเครือข่ายโครงการ GLOBE ทำให้นักเรียนได้พัฒนาสมรรถภาพ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่ สสวท. ได้ตั้งเป้าไว้ว่า เด็กไทยในยุคใหม่ต้องมีความรู้ความสามารถด้านสะเต็ม นำความรู้ที่เรียนในห้องเรียนมาใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันให้ได้ สำหรับผลงานที่ชนะเลิศ ระดับชั้นประถมศึกษาประจำปี2559 นี้ได้แก่ผลงานของ ด.ญ.ณิชา ถาชื่น ด.ช.พีรวิชญ์ ลือชา และด.ช.ณัฐดนัย กำธรกิตติกุล นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ จากผลงานวิจัยเรื่อง ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและลักษณะของภาชนะต่อจำนวนลูกน้ำยุง ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและลักษณะของภาชนะต่อจำนวนลูกน้ำยุงลายในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอสารภี อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัย พบว่าพื้นที่ชนบทพบจำนวนลูกน้ำยุงลายมากที่สุด ชุมชนเมืองมีจำนวนลูกน้ำยุงรำคาญมากที่สุด ชุมชนชนบทมีจำนวนลูกน้ำยุงก้นปล่องมากที่สุดพื้นที่ป่ามีจำนวนลูกน้ำยุงชนิดอื่นๆ มากที่สุด และพบว่าชุมชนเมืองพบลูกน้ำในภาชนะที่เป็นถังซีเมนต์มากกว่ากะละมัง ชุมชนชนบทพบลูกน้ำในภาชนะที่เป็นถังพลาสติกมากที่สุด บริเวณใกล้ป่าไม้พบลูกน้ำในภาชนะที่เป็นถังพลาสติกมากที่สุด ดัชนีลูกน้ำในบริเวณใกล้ป่าไม้ (อ.หางดง) เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออกสูง ด.ช.ณัฐดนัย กำธรกิตติกุล กล่าวว่า "ตนและเพื่อนรู้สึกดีใจและประทับใจมากที่มีโอกาสได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานในครั้งนี้ และได้มีโอกาสได้ความรู้พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนๆ จากโรงเรียนอื่นๆ และมีนักวิชาการมาคอยให้คำแนะนำซึ่งถือเป็นประโยชน์และเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับพวกเราในการนำไปพัฒนาผลงานของพวกเราในอนาคตอย่างมากเลยครับ" ด้าน นส.ศศิธร อุ่นใหม่ ตัวแทนจากโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ จ.สุราษฎร์ธานี เจ้าของงานวิจัยหัวข้อปัจจัยของขนาดหม้อ ฝาปิดหม้อ จำนวนและขนาดต่อมน้ำหวานต่อความหลากหลายของแมลงที่พบในหม้อข้าวหม้อแกงลิง กล่าวว่า แม้ว่าครั้งนี้จะไม่ได้รับรางวัล แต่ตนและเพื่อนๆ รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากที่ได้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้กับเพื่อนๆ จากต่างโรงเรียน ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้รับ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ และตระหนักถึงความสำคัญในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ