สถาบันไทย-เยอรมัน เร่ง 3 ยุทธศาสตร์หลัก พัฒนาวงการแม่พิมพ์ไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday March 9, 2005 10:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--รี้ด เทรดเด็กซ์
กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยให้เข้มแข็งและรวดเร็ว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และผลักดันให้อุตสาหกรรมแม่พิมพ์เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของชาติ ด้วยการสนับสนุนให้ สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) ดูแล “โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์” โดยเร่งพัฒนา 3 ยุทธศาสตร์หลักคือการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาการออกแบบแม่พิมพ์
รศ. ณรงค์ วรงค์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันฝ่ายไทย ของ TGI กล่าวว่า โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เป็นโครงการที่ทางรัฐบาลเห็นความสำคัญให้การสนับสนุน เพราะอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมหลัก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร แฟชั่น อัญมณี และอีกมาก รวมทั้งทำให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น เพราะแสดงถึงความพร้อมในการสนับสนุนการผลิตของอุตสาหกรรมหลัก ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ TGI เป็นผู้ดูแลโครงการ และเร่งพัฒนา 3 ยุทธศาสตร์หลักของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์
ยุทธศาสตร์แรกคือการสร้างและยกระดับบุคลากรด้านแม่พิมพ์ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างบุคลากรให้มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 7, 700 คน ภายในเวลา 5 ปี โดยให้ความรู้และฝึกอบรมให้มีทักษะตามมาตรฐานตามวิชาชีพแม่พิมพ์ โดยขณะนี้ได้ให้ทุนเด็กด้อยโอกาสไปแล้ว 12 ทุน ซึ่งขณะนี้ฝึกงานอยู่ในโรงงาน นอกจากนั้นยังให้เงินอุดหนุนแก่สถาบันการศึกษา อบรมให้ครูได้เห็นงานจริง เพื่อสามารถไปถ่ายทอดแก่นักเรียนได้อย่างถูกต้อง นอกจากนั้นยังยกระดับฝีมือ แรงงาน ของพนักงานในสถานประกอบการด้วย
ยุทธศาสตร์ที่สอง คือการพัฒนาเทคโนโลยี รศ. ณรงค์ กล่าวว่ากว่าจะมาเป็นแม่พิมพ์หนึ่งอันได้ นอกจากฝีมือการออกแบบแม่พิมพ์แล้ว ยังต้องใช้เทคโนโลยีมากมาย โดย TGI มีเป้าหมายที่จะสร้างศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างน้อย 5 ศูนย์ จัดกิจกรรมการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการ จัดศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการเรื่องแม่พิมพ์ ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้าร่วมแล้ว นอกจากนั้น ยังช่วยซ่อมเครื่องให้กับผู้ประกอบการ SME อีกด้วย
ยุทธศาสตร์ที่สาม การเชื่อมโยงของอุตสาหกรรม มีกิจกรรมที่สำคัญคือการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ให้เป็น Cluster และ Supply Chain ร่วมกัน โดย รศ. ณรงค์ ยกตัวอย่างประเทศไต้หวัน ซึ่งส่งออกแม่พิมพ์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เพราะผู้ประกอบการเชื่อมโยงเป็นพันธมิตรกัน ในการทำงานจึงไม่ต้องลงทุนมาก ทำงานได้เร็วขึ้น มีขีดความสามารถสูง และมีการแบ่งงานกันทำ
ขณะนี้ TGI ได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ และอีกหลายสถาบัน และในเดือนมิถุนายนนี้ ก็จะร่วมมือกับบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เพื่อจัดกิจกรรมส่วนแสดงพิเศษ “Mold Maker Pavilion” ให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสแสดงผลงานและความสามารถในการผลิตของตนแก่ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ ภายในงาน “อินเตอร์โมลด์ไทยแลนด์ 2005” งานแสดงเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 16-19 มิถุนายนนี้ ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี (สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับงานได้ที่ www.intermoldthailand.com)
“งานแสดงสินค้าเป็นกลไกซื้อขาย ให้ผู้ประกอบการได้เปิดหูเปิดตา มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นแหล่งข้อมูลกระตุ้นให้เกิดความคิดการทำธุรกิจและผลิตภัณฑ์มาขาย ทำให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น ในประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศ ถือเป็นข้อบังคับเลยว่าผู้ประกอบการจะต้องไปดูงานแบบนี้” รศ. ณรงค์ กล่าว
นอกจากส่วนแสดงพิเศษแล้ว TGI ยังจะจัดให้มีการสัมมนาถ่ายทอดเทคโนโลยีเช่น CAD/CAM จัดกิจกรรมที่ผู้ประกอบการจะได้ใช้เป็นโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจ
เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักเช่นอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2548 รศ. ณรงค์ จึงคาดว่าอุตสาหกรรมแม่พิมพ์น่าจะโตขึ้น 7-8 เปอร์เซ็นต์ และถ้าสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะ ส่งออกไปยังต่างประเทศก็มีมากขึ้น
รศ. ณรงค์ กล่าวว่า แม้แม่พิมพ์จะไม่ใช่อุตสาหกรรมทำเงิน แต่ทำเพราะใจรัก แฝงทั้งความรู้ ทักษะ และความอดทน แต่เป็นอาชีพที่หลายคนภูมิใจ คนในวงการจะไม่ตกงาน แต่ต้องพัฒนา รักษาคุณภาพ และพัฒนาเทคโนโลยีต่อไป ปัญหาขณะนี้คือ ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ค่อยได้พบกัน TGI จึงต้องช่วยทำการตลาด ให้ผู้ประกอบการช่วยเหลือกัน ให้เป็น Cluster และทำกิจกรรมเช่น “Mold Maker Pavilion”
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมแสดงผลิตภัณฑ์และศักยภาพในการผลิตในส่วนแสดงพิเศษ “Mold Maker Pavilion” ภายในงาน “อินเตอร์โมลด์ไทยแลนด์ 2005” สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณวินัย ตรีไพชยนต์ศักดิ์ สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) โทร. 038 215 033-44 ต่อ 1700 หรือ อีเมล์ vinai@tgi.or.th
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ชูจิตร ภิรมย์อรรถ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
Reed Tradex Co.,Ltd.
โทร. 0-2636-7272 ต่อ 104
โทรสาร 0-2636-7282
อีเมลล์. chuchit@reedtradex.co.th--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ