โรยส์-รอยซ์คาดยอดส่งมอบเฮลิคอปเตอร์พลังเทอร์บายน์เพิ่มกว่าเก้าพันเครื่องตลอดทศวรรษนี้

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday May 16, 2000 17:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย)
โรยส์-รอยซ์ พีแอลซี ผู้นำเทคโนโลยีการบินพาณิชย์ การบินทหาร การเดินเรือ และการพลังงาน เผยรายงานการคาดการณ์ตลาดเครื่องยนต์อากาศยานในรอบ 10 ปีข้างหน้า ชี้ตลาดเฮลิคอปเตอร์พลังเครื่องยนต์เทอร์บายน์ของโรลส์-รอยซ์ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งมอบสินค้าอาจเพิ่มเป็น 9,036 เครื่องภายในปี 2552 โดยแบ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์การบินพลเรือนร้อยละ 60 และเฮลิคอปเตอร์การบินทหารร้อยละ 40
มร. ริชาร์ด ฮัคเกิล รองประธานกรรมการ ฝ่ายบริหารงานลูกค้าด้านกิจการเฮลิคอปเตอร์ โรลส์-รอยซ์ พีแอลซี เปิดเผยว่า จากรายงานการคาดการณ์สภาพตลาดเครื่องยนต์อากาศยานในรอบ 1 ทศวรรษจากนี้ ปรากฎว่าในส่วนของเฮลิคอปเตอร์พลังเทอร์บายน์คาดว่าจะมียอดส่งมอบทั้งหมด 9,036 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากที่คาดคะเนไว้เมื่อปีที่แล้ว 91 เครื่อง โดยแบ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์พลเรือนร้อยละ 60 หรือ 5,403 เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์ทหารร้อยละ 40 หรือ 3,633 เครื่อง
เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์สำหรับเฮลิคอปเตอร์พลเรือนทั้ง 5,403 เครื่องดังกล่าว แบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ เครื่องยนต์เทอร์บายน์เดี่ยว คิดเป็นร้อยละ 56 และเครื่องยนต์เทอร์บายน์คู่ขนาดเบา คิดเป็นร้อยละ 20 ทั้งนี้ คาดว่าเฮลิคอปเตอร์พลเรือนที่ส่งมอบในปี 2544 จะมีจำนวนมากที่สุด คิดเป็นประมาณ 579 เครื่อง และลดลงเหลือประมาณปีละ 530 เครื่องจนสิ้นทศวรรษนี้
ทางด้านการส่งมอบเฮลิคอปเตอร์ทหารจำนวน 3,633 เครื่อง ภายใน 10 ปีข้างหน้านั้น เป็นการคาดคะเนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 3 หรือคิดเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น 98 เครื่อง ทั้งนี้ คาดว่าร้อยละ 45 ของยอดการส่งมอบทั้งหมดจะเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ติดตั้งเครื่องโรเตอร์คราฟท์รุ่นใหญ่แบบหลายเครื่องยนต์ (multi-engine heavy rotorcraft) สำหรับงานลำเลียงกองกำลังทหาร ตามด้วยเฮลิคอปเตอร์โจมตีร้อยละ 28 และเฮลิคอปเตอร์ขนส่งและกองหนุนอีกร้อยละ 11 ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าการขนส่งมอบเฮลิคอปเตอร์ทหารไว้สูงสุดในปี 2546 คิดเป็นจำนวน 417 เครื่อง และจะลดลงโดยเฉลี่ยเหลือปีละ 380 เครื่อง ไปจนถึงปี 2552
มร. ฮัคเกิล กล่าวต่อไปว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ตลาดเฮลิคอปเตอร์พลเรือนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดเพื่อตอบสนองลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันของลูกค้า เช่น เฮลิคอปเตอร์รุ่นออกัสต้า เอ-109 เพาเวอร์ รุ่นเอ-119 โคอาล่า รุ่นเบลล์ 407, 430 และ 427 รวมไปถึงยูโรคอปเตอร์ อีซี 120, อีซี 135 และ อีซี 155 นอกจากนี้ ปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ความหนาแน่นในการใช้สนามบินและเส้นทางการบิน ความล่าช้าของเที่ยวบินพาณิชย์ ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจที่มั่นคงได้ทำให้องค์กรและบริษัทต่างๆ เริ่มหันมาใช้เฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวเป็นทางเลือกในการเดินทางเพิ่มขึ้นด้วย
ข้อมูลสำหรับกองบรรณาธิการ : โรลส์-รอยซ์ พีแอลซี เป็นองค์กรระดับโลกที่ตอบสนองความต้องการในปัจจุบันและอนาคตของอุตสาหกรรมการบินพลเรือน การบินทหาร และการพลังงาน ปัจจุบันมีฐานปฏิบัติการอยู่ใน 14 ประเทศทั่วโลก เทคโนโลยีแก๊สเทอร์บายน์ที่เป็นหัวใจสำคัญของโรลส์-รอยซ์ คือเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์กลุ่มเครื่องยนต์อากาศยานที่มีความหลากหลายที่สุดในโลก ปัจจุบันเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ 55,000 ลำ ติดตั้งให้บริการอยู่ตามสายการบินชั้นนำ 300 แห่ง องค์กรธุรกิจและผู้ให้บริการทางด้านการบิน 2,400 แห่ง และกองทัพมากกว่า 100 แห่ง โดยจัดเป็นเครื่องยนต์ประเภทขับเคลื่อนเครื่องบินปีกนิ่ง (Fixed Wing Aircraft) และเครื่องบินปีกหมุน (Rotary Wing Aircraft) นอกจากนี้ โรลส์-รอยซ์ยังเป็นผู้ให้บริการเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางน้ำให้แก่กองทัพเรืออีกกว่า 30 แห่ง ตลาดอุตสาหกรรมพลังงานของโรลส์-รอยซ์รวมไปถึงอุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมก๊าซ และการผลิตพลังงาน
โรลส์-รอยซ์ คือผู้นำทางด้านเทคโนโลยีแก๊สเทอร์บายน์สำหรับการบิน การผลิตพลังงาน และการผลิตเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางน้ำ ปัจจุบันบริษัทฯ มีส่วนร่วมในโครงการเพื่ออนาคตที่สำคัญ ๆ หลายโครงการในอุตสาหกรรมประเภทดังกล่าว รวมทั้งโครงการเครื่องยนต์การบินและอุตสาหกรรมในตระกูล เทรนท์ โครงการเครื่องยนตร์ยูโรไฟท์เตอร์ ไทฟูน (Eurofighter Typhoon) และจ๊อยท์ สไตร้ค ไฟท์เตอร์ (Joint Strike Fighter) และโครงการเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางน้ำ ดับเบิ้ลยูอาร์ 21 (WR21)
โรลส์-รอยซ์รักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมั่นคงกับสายการบินไทยและกองทัพไทยมาเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานหลายปี ความร่วมมือล่าสุดนำมาซึ่งการเปิดตัวเครื่องยนต์เทรนท์บนฝูงบินโบอิ้งรุ่น 777-200 ของสายการบินไทยเป็นแห่งแรก และการเปิดอาคารทดสอบสมรรถนะเครื่องยนต์ (Test Cell) ของสายการบินไทยแห่งใหม่ที่สนามบินดอนเมือง ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตพลังงานของโรลส์-รอยซ์กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยบริษัทในประเทศไทยหลายแห่งและในอุตสาหกรรมหลายประเภท
อนึ่ง โรลส์-รอยซ์ได้นำเอาวิธีการศึกษาเชิงปริมาณมาใช้วิเคราะห์การผลิตเครื่องยนต์ป้อนตลาดเฮลิคอปเตอร์พลเรือนเพื่อช่วยให้การคาดคะเนมีความแม่นยำยิ่งขึ้น โดยปัจจัยที่นำมาประกอบการวิเคราะห์ ได้แก่ วัตถุประสงค์การใช้งาน อายุการใช้งาน ชั่วโมงบิน การใช้งานเครื่องโรเตอร์คราฟท์ ชั่วโมงบิน รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจและการปฏิบัติการอื่นๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อการกำหนดคุณสมบัติของเครื่องยนต์แต่ละรุ่น เพื่อประสิทธิภาพและการคล่องตัวสูงสุดในการใช้งาน ส่วนการคาดคะเนจำนวนการส่งมอบเฮลิคอปเตอร์ทหาร โรลส์-รอยซ์ใช้วิธีการวิเคราะห์ในรายละเอียด เช่น ความต้องการใช้งาน และแผนปฏิบัติการทางทหารในแต่ละประเทศ
เกือบครึ่งของเฮลิอปเตอร์น้ำหนักเบาทั่วโลก ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์รุ่น 250 ซึ่งมีชั่วโมงบินรวมแล้วกว่า 250 ล้านชั่วโมงนับจากการเปิดตัวครั้งแรก เครื่องยนต์รุ่น 250 นี้ติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์รุ่นเบลล์ 206, 407, 430 และเฮลิคอปเตอร์รุ่นเอ็มดี 500 และรุ่นเอ็มดี 600เอ็น ส่วนเครื่องบินที่ใช้พลังเครื่องยนต์เจม ได้แก่ เครื่องบินรุ่น จีเคเอ็น เวสท์แลนด์ ลิงซ์ และรุ่นออกัสต้า เอ-129 แมนกัสต้า
โครงการเครื่องยนต์อาร์ทีเอ็ม 322 เป็นการร่วมทุนระหว่างโรลส์-รอยซ์ และบริษัทเทอร์โบเมก้าแห่งประเทศฝรั่งเศส เครื่องยนต์รุ่นนี้ใช้ขับเคลื่อนเฮลิคอปเตอร์รุ่นอีเอช-101 เมอร์ลิน รุ่นเอ็นเอช-90 และรุ่นดับบลิวเอเอช-64 อาปาเช่ ส่วนโครงการเครื่องยนต์เอ็มทีอาร์ 390 สำหรับขับเคลื่อนเครื่อง ยูโรคอปเตอร์ ไทเกอร์ เป็นการร่วมทุนระหว่าง เดมเลอร์-ไครส์เลอร์ แอโรสเปซ เอ็มทียู, เทอร์โบเมก้าและโรลส์-รอยซ์
ส่วนบริษัท ไลท์ เทอร์บายน์ เอ็นจิ้น (Light Turbine Engine Company-LTEC) คือการรวมหุ้นในอัตราส่วน 50/50 ระหว่างโรลส์-รอยซ์กับฮันนี่เวลล์ เพื่อผลิตเครื่องยนต์เทอร์โบชาฟ์ท ที800 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำหรับเฮลิคอปเตอร์ รุ่นโบอิ้ง ซิคอร์สกี้ย์ อาร์เอเอช-66 โคมาเช่ และรุ่นเบลล์ ยูเอช-1 ฮิวย์ ที800 อีพีเอเอฟ (ในช่วงการเริ่มผลิตและการลงสนามจริง) และยังติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์โจมตีรุ่นออกัสต้า เอ1291 และเฮลิคอปเตอร์ทหารรุ่น จีเคเอ็น เวสท์แลนด์ ซุปเปอร์ ลิงซ์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย) จำกัด
บราลี อินทรรัตน์ โทร. 658-6111-20--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ