กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาคมเครื่องจักรกลไทย และบริษัทไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด จัดแถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนาสร้างโรงสีข้าวแบบครบวงจรขนาดชุมชนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้โครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ณ วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่
การแถลงข่าวในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, อาจารย์รชฏ เชื้อวิโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, นายสมศักดิ์ ถนอมวรสิน ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด นายกกิตติมศักดิ์สมาคมเครื่องจักรกลไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้ร่วมแถลงข่าว และร่วมทำพิธีเปิดโรงสีข้าวต้นแบบ พร้อมทั้งชมการสาธิตการทำงานของโรงสีข้าวแบบครบวงจร ขนาดชุมชนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์
นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ ได้เล็งเห็นว่า เดิมทีนั้นเราต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้ในกระบวนการต่างๆ ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่สูงมาก แต่ปัจจุบันเราได้มองเห็นศักยภาพของสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งเรียนรู้ มีองค์ความรู้ มีผลงานวิจัย และพร้อมที่จะถ่ายทอดสู่เกษตรกรและชุมชน โดยทางกระทรวงฯเป็นแหล่งงบประมาณสนับสนุน ซึ่งเราเล็งเห็นว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพ มีองค์ความรู้มากมายและที่ทำสำคัญใกล้ชิดกับชุมชน เราจึงเลือกมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้ โดยนำเอาองค์ความรู้ที่มีผ่านให้กับบริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด เพื่อสร้างเป็นเครื่องจักรกลเพื่อนำไปสู่การใช้งานจริง ซึ่งในครั้งนี้เป็น โรงสีข้าวแบบครบวงจร ขนาดชุมชนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์"
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า "เรารู้สึกยินดีมากที่ทางกระทรวงฯ และบริษัท ต่างๆ ได้เล็งเห็นความสำคัญขององค์ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงานทดแทน ซึ่งถือเป็นพลังงานทางเลือกที่สำคัญในปัจจุบัน สำหรับโรงสีข้าวพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจรขนาดชุมชนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกิโลวัตต์(kW) กำลังผลิต 20 กิโลกรัมต่อชั่วโมง สามารถทำงานได้วันละ 5 ชั่วโมง ประกอบด้วย โรงสีข้าว เครื่องสูบน้ำ โดมอบข้าว ไซโลเก็บข้าว และเครื่องบรรจุข้าวใส่ถุงพลังงานแสงอาทิตย์ เกษตรกรสามารถ ตาก สี และบรรจุข้าวในถุงที่สวยงามแบบเบ็ดเสร็จพร้อมที่จะนำผลผลิตออกจำหน่ายหรือบริโภคในครัวเรือนได้ทันที ทั้งนี้ ทางบริษัทได้มีแผนที่จะผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งหากหน่วยงาน หรือเกษตรชุมชนใดสนใจ สามารถเข้าชมเครื่องต้นแบบได้ที่วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่"