"ซัน" ร่วมกับบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำ ประกาศพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยีจาวารองรับระบบปฏิบัติการไร้สายยุค 3G

ข่าวทั่วไป Thursday June 8, 2000 15:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
"ซัน ไมโครซิสเต็มส์ อิงค์" ร่วมกับบริษัทผู้ติดตั้งและให้บริการระบบการสื่อสารโทรคมนาคมชั้นนำ ได้แก่ อีริคสัน, เอ็นอีซี, โนเกีย, นอร์เทล เน็ตเวิร์คส์ และเทลคอร์เดีย เทคโนโลยีส์ อิงก์ประกาศแนวทางการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยี จาวา (Java ƒ) ซึ่งเป็นการนำ Java APIs มาใช้เป็นมาตรฐานหลักของระบบสนับสนุนการดำเนินงาน (Operations Support Systems หรือ OSS) และระบบสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ (Business Support Systems หรือ BSS) ทั้งนี้ การสนับสนุนโครงการดังกล่าวของบริษัทเหล่านี้จะเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกมัด ตลอดจนการเจรจาร่วมกัน และข้อตกลงที่เห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย
โครงการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาให้ OSS API หลากหลายชนิดให้มีมาตรฐานเดียวกันโดยใช้โปรแกรม JCP (Java Community ProcessSM) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ติดตั้งและให้บริการระบบสื่อสารโทรคมนาคมสามารถสร้างระบบ OSS ระบบเปิดที่สามารถรันแอพพลิเคชั่นร่วมกันได้ทุกระบบ ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานกลางสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้แอพพลิเคชั่นของผู้ค้าต่างรายสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
โครงการพัฒนาระบบ OSS ด้วยเทคโนโลยีจาวา มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบ OSS APIs ให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยใช้โปรแกรม Java Community ProcessSM หรือ JCP ซึ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบเปิดที่ซันได้นำมาดัดแปลงข้อกำหนด (specification) ของเทคโนโลยีจาวาตั้งแต่เมื่อปี 2538 โดยร่วมมือกับนักพัฒนาโปรแกรมจาวาจากนานาประเทศทั่วโลกปัจจุบัน ผู้ติดตั้งและให้บริการระบบการสื่อสารโทรคมนาคมกำลังเผชิญกับปัญหาด้าน OSS ที่เป็นระบบปิด เนื่องจากระบบที่นำมาใช้งานเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของผู้ผลิตแต่ละรายและไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ นอกจากจะมีการนำระบบที่แตกต่างกันเหล่านี้มาเชื่อมโยงกันเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวมีความซับซ้อน ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลามาก จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว
โครงการพัฒนาระบบ OSS จะเริ่มด้วยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับระบบการสื่อสารแบบไร้สาย 3G (third-generation)โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการจองซื้อตั๋วที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน การควบคุมการดำเนินงานและคุณภาพของบริการ ตลอดจนการสนับสนุนและขยายการให้บริการ
มร. ฌอง ปิแอร์ โบดูแอง ผู้อำนวยการกลุ่มซอฟต์แวร์การสื่อสารโทรคมนาคม บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ อิงค์ กล่าวว่า "เนื่องจากผู้ติดตั้งและให้บริการระบบการสื่อสารโทรคมนาคมได้ก้าวเข้าสู่ระบบเครือข่าย IP หรืออินเตอร์เน็ต จึงนับเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ OSS ให้เป็นระบบเปิดที่มีมาตรฐานเดียวกันและสามารถใช้งานร่วมกันได้ ทั้งยังให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพเหนือคู่แข่งขันรายอื่นๆในตลาด นอกจากนี้ ซันยังมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนา APIs ให้สามารถใช้งานได้กับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ระบบการสื่อสารโทรคมนาคมของซัน เพื่อให้มีสมรรถนะในการผลิตโซลูชั่นแบบครบวงจรที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง"
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยีจาวาเป็นผลจากความต้องการของบริษัทกลุ่มหนึ่งที่ได้พัฒนาระบบและอุปกรณ์ที่รองรับ OSS รุ่นใหม่โดยใช้แพลทฟอร์มจาวา
"โนเกียมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนาคุณลักษณะใหม่ของระบบการจัดการ 3G ให้เป็นระบบเปิดและสามารถทำงานข้ามระบบกันได้ ความพยายามดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของโนเกียในการสนับสนุนการพัฒนาระบบ OSS ให้มีมาตรฐานเดียวกัน และการให้ความร่วมมือกับผู้ค้าซอฟต์แวร์อิสระ ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมมีโซลูชั่นสนับสนุนการบริหารงานที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น" มร. จอร์มา เฮคคิเนน รองประธานบริหาร และผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนเกีย โอเอสเอส กล่าว
ความสามารถในการปรับขยายบริการต่างๆได้อย่างง่ายดาย ตลอดจนการนำแอพพลิเคชั่นและอุปกรณ์ที่รองรับ OSS ใหม่มาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว คือภารกิจสำคัญของผู้ติดตั้งและให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมที่ต้องการสร้างแต้มต่อเหนือคู่แข่งขันรายอื่นๆในยุคที่นวัตกรรมทางเทคโนโลยี คือ การสื่อสารด้วยเสียงผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (IP) และการเข้าสู่อินเตอร์เน็ตด้วยระบบการสื่อสารแบบไร้สายได้กลายเป็นความจริง
มร. สติ๊ก รูเน โจฮานส์สัน รองประธานกลุ่มระบบจีเอสเอ็ม บริษัทอีริคสันกล่าวว่า "เครือข่ายรุ่นที่สาม หรือ 3G และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆทำให้เกิดความต้องการโซลูชั่นด้านการจัดการสูงขึ้น ดังนั้น อุปกรณ์เชื่อมต่อแบบเปิดจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญประการหนึ่ง และโครงการพัฒนาระบบ OSS จะทำให้การใช้และการเชื่อมโยงกับอุปกรณ์เชื่อมต่อเหล่านี้ง่ายขึ้น"
ดังนั้น การแยกระบบการจัดการเครือข่ายออกจากระบบการจัดการบริการจะค่อยๆลดลง เนื่องจากตลาดการสื่อสารโทรคมนาคมจะขยายตัวไปสู่การจัดหาบริการต่างๆที่หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงทั้งสองระบบไว้ด้วยกัน
มร. สตีฟ นิคอลลี รองประธานกลุ่ม Service Ware Solutions บริษัท นอร์เทล เน็ตเวิร์คส์ กล่าวว่า "ในฐานะผู้นำด้านโซลูชั่นการให้บริการระบบเปิดสำหรับระบบอินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย บริษัทฯมีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการลูกค้าด้วยโซลูชั่นการจัดการแบบเปิดของผู้ผลิตหลายราย ทั้งประเภทโซลูชั่นเครือข่าย และโซลูชั่นบริการ บริษัทฯ มองเห็นว่าโครงการพัฒนาระบบ OSS ดังกล่าว เป็นโครงการสำคัญโครงการหนึ่งที่บริษัทฯ พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย"
ดังนั้น เทคโนโลยี Enterprise JavaBeans ซึ่งจะนำมาใช้พัฒนาระบบ OSS APIs จึงช่วยให้การพัฒนาโซลูชั่นมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น และมีความยืดหยุ่นสูงขึ้น
มร. นาโอตาเกะ ทาคะ-ทสุคาสะ ผู้จัดการทั่วไประดับอาวุโส ฝ่าย Control Systems Operations บริษัทเอ็นอีซี กล่าวว่า "ความสามารถในการจัดหาโซลูชั่นตามความต้องการของลูกค้า โดยไม่ต้องใช้โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์พิเศษ ได้สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น และโครงการพัฒนาระบบ OSS ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระบวนการดังกล่าว"
โครงการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยีจาวา คือคำตอบสมบูรณ์แบบสำหรับผู้ติดตั้งและให้บริการระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งต้องการเชื่อมโยงระบบการทำงานเฉพาะของตนไว้ด้วยกัน
"การพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันได้โดยใช้ APIs ที่เป็นมาตรฐานร่วมกันจะทำให้การพัฒนาโซลูชั่น OSS ตามความต้องการของลูกค้ามีความรวดเร็วยิ่งขึ้น" มร. ริช วอล์ฟฟ์ รองประธานฝ่าย Advanced Network Systems Research บริษัท เทลคอร์เดีย เทคโนโลยีส์ อิงค์กล่าว พร้อมกับเสริมว่า "โครงการนี้จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาโซลูชั่นการจัดการแบบครบวงจรสำหรับอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมให้มีความสะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นที่ตลาดการสื่อสารเคลื่อนที่ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็วอยู่ในขณะนี้ เทลคอร์เดียรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้สอดรับกับ JCP"
โครงการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมมือกับโครงการอื่นๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน อาทิ โครงการ TeleManagement Forum (TMF) และโครงการ Third Generation Partnership Project (3GPP)
"เป้าหมายหลักของเราในปีนี้คือ การกำหนดโครงสร้างที่สมบูรณ์แบบของระบบ OSS รุ่นใหม่ (New Generation OSS หรือ NGOSS) รวมทั้งระบบเทคโนโลยีที่สามารถใช้ร่วมกับระบบอื่นๆได้ และสถาปัตยกรรมที่รองรับการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีหลายระบบ" เอลิซาเบ็ธ อดัมส์ ประธาน และประธานกรรมการบริหารโครงการ TM Forum กล่าว พร้อมกับเสริมว่า "เทคโนโลยีจาวาได้รับการสนับสนุนจากตลาดเป็นอย่างมาก และเราต้องการให้นักพัฒนาจาวาช่วยกำหนดรายละเอียดการทำงานของอุปกรณ์ที่ใช้ในการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ ซึ่งใช้เทคโนโลยีจาวา เรามีความยินดีที่ได้ร่วมงานกับทีมงานโครงการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ และคาดหวังว่า การพัฒนา APIs ด้วยเทคโนโลยีจาวาจะเป็นส่วนสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมที่สำคัญ"
ระบบ OSS APIs ที่สามารถทำงานร่วมกันได้จะช่วยให้บริษัทซอฟต์แวร์อิสระสามารถทำงานได้ง่ายดายและสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถรุกตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตเชื่อมต่อกับระบบที่แตกต่างกันของผู้ผลิตแต่ละราย
"APIs คือผลลัพธ์ที่เกิดจากโครงการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยีจาวา และถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SunConnect และสำหรับอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมแล้ว โครงการ SunConnect ได้มุ่งเน้นที่การพัฒนาโซลูชั่นระบบ OSS แบบครบวงจร ดังนั้น โครงการ SunConnect จึงเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญในการพัฒนาระบบ OSS รุ่นใหม่ให้บรรลุผลสำเร็จ โดยร่วมมือกับบริษัทซอฟต์แวร์ และ ซิสเต็ม อินเทเกรเตอร์เพื่อจัดหาโซลูชั่นระบบเปิดครบวงจรสำหรับผู้ให้บริการต่างๆ" มร. ฟิล ซาสโซ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ OSS บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์กล่าวในตอนท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ:
รัมภา บุศยอังกูร สิริพร ศุภรัชตการ หรือ สาธิดา ศรีธัญญาธรณ์
ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
โทร. 636-1555 โทร. 252-9871-7
อีเมล์ rampa@Thailand.Sun.Com อีเมล์ s_siriporn@bm.com / s_satida@bm.com-- จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ