กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--เวเบอร์ แชนด์วิค
รายงานฉบับใหม่เน้นย้ำบทบาทของเครือข่าย และการใช้กฎระเบียบที่ช่วยสร้างสังคมดิจิทัลซึ่งเชื่อมต่อผู้คนในภูมิภาคเอเชีย
สมาคมจีเอสเอ็ม นำเสนอรายงานฉบับล่าสุดที่เน้นย้ำถึงบทบาทของการเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการสร้างสังคมดิจิทัลทั่วเอเชีย และเรียกร้องผู้กำหนดนโยบายให้สนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลทั่วภูมิภาค โดยรายงานฉบับใหม่นี้จัดทำขึ้นภายใต้หัวข้อ "การพัฒนาความก้าวหน้าของสังคมดิจิทัลในเอเชีย" (Advancing Digital Societies in Asia) และนำออกเผยแพร่ในการประชุมนโยบายสังคมดิจิทัลประจำปี 2016 โดยสมาคมจีเอสเอ็มและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (GSMA-ITU Digital Societies Policy Forum 2016) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ และพันธมิตรในอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันผลักดันเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับการพัฒนาของสังคมดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง
นายอลาสแดร์ แกรนท์ ผู้อำนวยการสมาคมจีเอสเอ็ม ประจำภูมิภาคเอเชีย
นายอลาสแดร์ แกรนท์ ผู้อำนวยการสมาคมจีเอสเอ็ม ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า "นโยบายด้านดิจิทัลในเอเชียมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของทั้งภูมิภาค เพราะเป็นพื้นฐานในการช่วยกำหนดและสนับสนุนการสร้างสังคมดิจิทัลของแต่ละประเทศในอนาคต อีกทั้งยังช่วยผลักดันเรื่องการสื่อสารข้ามพรมแดนที่สอดรับกันให้เป็นประเด็นระดับภูมิภาค การนำเสนอรายงานล่าสุดนี้จะช่วยให้สมาคมจีเอสเอ็มสามารถทำงานร่วมกับสมาชิกและหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อพัฒนาและดำเนินนโยบายด้านดิจิทัลที่สนับสนุนเป้าหมายในการพัฒนาของแต่ละประเทศ"
เนื้อหาสำคัญที่มุ่งเน้นในรายงานฉบับใหม่นี้ คือความก้าวหน้าของการพัฒนาสังคมดิจิทัลใน 7 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ ออสเตรเลีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ปากีสถาน สิงคโปร์ และไทย โดยแต่ละประเทศจะได้รับการประเมินในด้านต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ ได้แก่ ระดับการเข้าถึงโครงข่ายเชื่อมต่อของประชาชน การพัฒนาพลเมืองให้พร้อมต่อระบบดิจิทัล และการพัฒนาระบบดิจิทัลที่รองรับวิถีชีวิต รวมทั้งความก้าวหน้าของดิจิทัลคอมเมิร์ซ โดยผลการวิเคราะห์ได้สะท้อนถึงความหลากหลายในภูมิภาคนี้ โดยสามารถแบ่งการพัฒนาดิจิทัลของประเทศในเอเชียเป็น 3 ประเภท ได้แก่
สังคมดิจิทัลเกิดใหม่ ประเทศที่เป็นตัวอย่างของสังคมดังกล่าวในรายงานนี้ คือบังกลาเทศและปากีสถาน โดยการพัฒนาดิจิทัลในประเทศเหล่านี้จะมุ่งเน้นให้เป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม โดยสิ่งสำคัญที่ประเทศเหล่านี้ดำเนินการเป็นลำดับแรก คือการจัดหาบริการที่จำเป็นต่างๆ ให้กับประชาชน เช่น บริการด้านสุขภาพ การศึกษา และบริการทางการเงิน
สังคมดิจิทัลช่วงเปลี่ยนผ่าน ประเทศที่เป็นตัวอย่างของสังคมดังกล่าวในรายงานนี้ คือไทยและอินโดนีเซีย การพัฒนาดิจิทัลในประเทศเหล่านี้มุ่งเน้นเรื่องการปรับบริการตามความต้องการเฉพาะบุคคล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนและสถาบันต่างๆ ประเทศเหล่านี้จะมีการขยายตัวของเมืองใหญ่อย่างรวดเร็ว จนเกิดปัญหาที่ต้องรับมือทั้งปัญหาสังคม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และปัญหาสิ่งแวดล้อม
สังคมดิจิทัลขั้นสูง ประเทศที่เป็นตัวอย่างของสังคมดังกล่าวในรายงานนี้คือออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตทั้งในแง่การเข้าถึงในวงกว้างและขีดความสามารถในการรองรับ ปัจจุบันประเทศเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบเชื่อมต่อและการทำงานร่วมกันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างหลายภาคส่วน ประเทศเหล่านี้ยังถูกคำนึงถึงในฐานะผู้นำที่เป็นแบบอย่างของภูมิภาค ในด้านการสร้างมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติของสังคมดิจิทัล เช่น อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ หรือ IoT
บทบาทของโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการขับเคลื่อนสังคมดิจิทัลในเอเชีย
สิ่งสำคัญอันดับแรกในการสร้างสังคมดิจิทัล คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มั่นคงและปรับขยายได้ในอนาคต โดยในภูมิภาคเอเชีย โทรศัพท์เคลื่อนที่ถือเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้เชื่อมต่อเพื่อเข้าถึงบริการดิจิทัลต่างๆ ดังนั้นจึงมีการสนับสนุนให้ภาครัฐกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมการเติบโตอย่างรวดเร็วของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งรวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเข้าใจในการใช้บริการให้กับประชาชน
ปัจจุบันมีประชากรมากกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลกที่เข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งมีส่วนส่งเสริมให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีการเติบโตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีประชากรอีกราว 4 พันล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเครือข่ายและใช้บริการดิจิทัลต่างๆ ได้ โดยอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยรวมในเอเชียแปซิฟิกยังคงตามหลังค่าเฉลี่ยทั่วโลก เนื่องจากภูมิภาคนี้มีประชากรมากแต่กลับมีสัดส่วนการพัฒนาเครือข่ายที่ค่อนข้างต่ำ เห็นได้จากอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ ที่มีประชากรรวมกันกว่า1.6 พันล้านคน แต่มีสัดส่วนผู้ลงทะเบียนใช้งานจริง (unique subscriber) เพียง 36% ดังนั้นการทำให้ประชากรทั่วภูมิภาคสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จึงเป็นหนึ่งในความท้าทายหลักที่อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้กำหนดนโยบาย จะต้องแก้ไขและรับมือต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า
ทั้งนี้ การประชุมนโยบายสังคมดิจิทัล จัดโดยสมาคมจีเอสเอ็ม มีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดอุปสรรคต่างๆ ที่มีต่อการลงทุนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงคลื่นความถี่ และสนับสนุนนโยบายด้านภาษีที่เหมาะสมต่ออุตสาหกรรม รวมทั้งดำเนินโครงการที่สร้างความตระหนักในบริการดิจิทัลต่างๆ ให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ง่าย และเข้าถึงได้ผ่านหลากหลายช่องทางและหลายภาษา โดยในภูมิภาคเอเชียมี 6 ประเทศเข้าร่วมเพื่อสร้างสังคมดิจิทัล ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน และไทย
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงาน Advancing Digital Societies in Asia ของสมาคมจีเอสเอ็ม ได้ที่https://www.gsmaintelligence.com/research/?file=9f48d32ff0671fb7dbbcb4efb84eabc0&download