กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--การประปาส่วนภูมิภาค
การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) แนะวิธีตรวจสอบระบบประปาภายในบ้านง่าย ๆ ได้ด้วยตนเอง ป้องกันไม่ให้มีการรั่วไหลของน้ำประปา เพื่อลดการสูญเสียน้ำประปาโดยเปล่าประโยชน์ ตลอดจนลดความเสี่ยงที่ส่งผลต่อค่าน้ำประปาที่สูงขึ้นผิดปกติ
นายชุมพล โชคพงษ์อุดมชัย รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 4) รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่บริการของ กปภ. ทั้ง 234 สาขา ทั่วประเทศ ยังคงสามารถบริหารจัดการน้ำดิบเพื่อนำมาผลิตและจ่ายน้ำประปาให้กับประชาชนได้ตามปกติ แต่อาจมีบางสาขาจำเป็นต้องจ่ายน้ำเป็นเวลาเพื่อรักษาปริมาณแหล่งน้ำดิบให้สามารถผลิตน้ำประปาได้ตลอดฤดูแล้ง สำหรับในส่วนของภาคประชาชน กปภ. ต้องขอความร่วมมือในการใช้น้ำประปาอย่างประหยัดด้วย ซึ่งแนวทางในการประหยัดน้ำประปานั้น นอกจากจะปรับเปลี่ยนวิธีการใช้น้ำประปาในปริมาณที่น้อยลงแล้วการตรวจสอบระบบประปาภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอเพื่อมิให้เกิดการรั่วไหล ยังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการสูญเสียน้ำประปาโดยเปล่าประโยชน์ได้อีกด้วย โดยประชาชนสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ด้วยวิธีการง่าย ๆ 2 ขั้นตอน คือ 1. ปิดก๊อกน้ำทุกตัวภายในบริเวณบ้าน และ 2.สังเกตมาตรวัดน้ำ หากพบว่ามาตรวัดน้ำยังหมุนอยู่ แสดงว่ามีท่อรั่วภายในบ้านต้องรีบติดต่อ กปภ.สาขาในพื้นที่ของท่าน หรือ PWA Call Center โทร. ๑๖๖๒ เพื่อหาแนวทางแก้ไขโดยเร็วต่อไป
ทั้งนี้ วิธีการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการช่วยประหยัดน้ำในภาพรวมแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงของสาเหตุที่ทำให้ค่าน้ำประปาสูงขึ้นผิดปกติอีกด้วย เพราะจากกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องค่าน้ำประปาสูงผิดปกติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง พบว่าสาเหตุส่วนใหญ่มาจากมีการรั่วไหลของระบบประปาภายในบ้าน โดยที่ลูกค้าผู้ใช้น้ำไม่ทราบ ส่งผลให้ลูกค้าผู้ใช้น้ำของ กปภ.ได้รับความเดือดร้อน และต้องรับภาระในการชำระค่าน้ำประปา ตามระเบียบเงื่อนไขการใช้น้ำประปาแนบท้ายสัญญาข้อ 7 "จำนวนน้ำที่ได้ใช้หรือสูญเสียสิ้นเปลืองไปเกิดขึ้นภายในมาตรวัดน้ำเข้าไปไม่ว่าจะเป็นเพราะท่อชำรุดหรือด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ผู้ใช้น้ำยินยอมชำระค่าน้ำตามจำนวนที่ได้ใช้หรือสูญเสียสิ้นเปลืองไปตามตัวเลขที่อ่านได้หรือคำนวณได้จากมาตรวัดน้ำ" ดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนหันมาดูแลเอาใจใส่ระบบท่อประปาและอุปกรณ์ประปาภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจากค่าน้ำที่สูงผิดปกติแล้วยังเป็นการช่วยดูแลทรัพยากรน้ำไม่ให้สูญหายโดยเปล่าประโยชน์ด้วย