กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--ปุ๋ยแห่งชาติ
ธ.ก.ส. จับมือปุ๋ยแห่งชาติวางมาตรการป้องกันและเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรลูกค้าพร้อมยันถุงปุ๋ยในโครงการร่วม 2 องค์กร ผนึกกระสอบ 2 ชั้น คุมเข้มการขนส่ง และกำหนดสีเม็ดปุ๋ยแต่ละสูตรให้มีลักษณะเฉพาะป้องกันปลอมปน เผยเป้าหมายปุ๋ยโครงการปี 2544 ประมาณ 3 แสนตัน
รายงานข่าวจากบมจ.ปุ๋ยแห่งชาติ หรือ NFC เปิดเผยว่า ระยะที่ผ่านมาจากปัญหาราคาปุ๋ยเคมีในท้องตลาดที่ได้ขยับตัวสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 15-20%อันเนื่องมาจากทั้งต้นทุนราคาน้ำมันและปุ๋ยยูเรียซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตนั้นได้เป็นแรงจูงใจให้กลุ่มมิจฉาชีพได้ ทำการลักลอบผลิตและจำหน่ายปุ๋ยปลอมมากขึ้น ซึ่งแม้ที่ผ่านมาทางการจะสามารถจับกุมและดำเนินคดีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังพบปุ๋ยปลอมอยู่ในท้องตลาดจำนวนที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเมื่อนำไปใช้เป็นปัจจัยการผลิตของเกษตรกรแล้ว จะไม่ทำให้ผลผลิตเติบโตและสมบูรณ์ ซึ่งท้ายที่สุดจะขายผลผลิตการเกษตรไม่ได้ราคาเท่าที่ควร
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทางบมจ.ปุ๋ยแห่งชาติ และ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่สนับสนุนสินเชื่อภาคเกษตรกรรม ตลอดจนเป็นองค์กรที่ดูแลผลประโยชน์ของเกษตรกรทั่วประเทศจึงได้มอบนโยบายให้กับทาง สหกรณ์การตลาดเพื่อการเกษตรลูกค้า ธ.ก.ส. (ส.ก.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลสนับสนุนปัจจัยการผลิตภาคเกษตรกรรม ในการกำหนดมาตรการที่เข้มงวดและรัดกุมที่จะป้องกันปัญหาปุ๋ยเคมีปลอม โดยร่วมมือกับบริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) เพื่อให้เกษตรกรสามารถมั่นใจได้ว่าปุ๋ยเคมีที่ออกจากโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ ส่งให้ ส.ก.ต. นั้นมีคุณภาพและธาตุอาหารครบถ้วนตามที่ระบุไว้ทุกประการ
รายงานข่าวจาก บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงการดำเนินการตามโครงการความร่วมมือจำหน่ายปุ๋ยราคาพิเศษเพื่อเกษตรกรในปี 2544 ว่า ตามเป้าหมายจะมีปุ๋ยตามความร่วมมือนี้จำหน่ายออกสู่ท้องตลาดจำนวนประมาณ 3 แสนตัน ซึ่งจะคลอบคลุมฤดูการทำนาปรังในพื้นที่ภาคกลาง การทำนาปีของพื้นที่ภาคอิสานและทั่วประเทศ ตลอดจนการทำพืชไร่ และฤดูการผลิตของไม้ผล ซึ่งในปี 2544 จากกรณีที่มีผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยปลอมออกสู่ท้องตลาด และทางการตรวจพบและจับกุมนั้น ทางปุ๋ยแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ผลิตปุ๋ยให้กับโครงการความร่วมมือจำหน่ายปุ๋ยราคาพิเศษนั้นก็ได้กำหนดมาตรการต่างๆที่จะป้องกันปุ๋ยปลอม ทั้งในด้านการปิดผนึกถุงด้วยระบบความร้อนอีกชั้นหนึ่งนอกเหนือจากการเย็บด้วยเชือกตามปกติ มาตรการควบคุมด้านการขนส่ง ตลอดจนการผลิตที่กำหนดสีของเม็ดปุ๋ยแต่ละสูตรให้มีลักษณะเฉพาะซึ่งยากแก่การปลอมปน
เนื่องจากการตรวจสอบปุ๋ยว่าปลอมหรือไม่นั้นจะพิจารณาได้ยาก เพราะต้องตรวจสอบในห้องปฏิบัติการทางเคมี และมีขั้นตอนที่ซับซ้อน โดยปัจจุบันผู้ที่สามารถตรวจสอบปุ๋ยนั้นมีเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งได้แก่ ห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ของโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ จังหวัดระยอง รวมไปถึงห้องวิเคราะห์ของทางราชการ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ตลอดจนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรอาจต้องสังเกตจากปัจจัยประกอบอื่นๆ เช่น ความเรียบร้อยของกระสอบซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ จะต้องอยู่ในสภาพที่เรียบร้อย ไม่มีพิมพ์เลอะเลือน รอยขีดฆ่า หรือพิมพ์ทับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของถุงบรรจุปุ๋ยธาตุอาหารของปุ๋ยแห่งชาตินั้นจะถูกปิดผนึกด้วยความร้อน นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตจากสีและลักษณะเม็ดปุ๋ยซึ่งผู้ใช้จะมีความคุ้นเคยอยู่แล้วในแต่ละสูตร และแต่ละตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือก็จะสามารถหลีกเลี่ยงปุ๋ยปลอมได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขาย โทร. 618-8100 ต่อ 2181, 2194--จบ--
-สส-