กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
เมื่อ 25 ปีก่อน ด่วน 2 โทลเวย์ และโฮปเวลล์ ต่างสร้างขึ้นฝั่งเหนือของกรุงเทพมหานคร และโดยที่เป็นการแข่งขันกันเองจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นี่คือบทเรียนสำคัญของการพัฒนาสาธารณูปโภคแบบกระเป๋าใครกระเป๋ามัน ที่อาจเกิดซ้ำในกรณีรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีเขียว
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่ขาดการประสานงาน จนนำไปสู่ความล้มเหลว เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดซ้ำขึ้นอีกในอนาคต เรามาลอง สรุปบทเรียนในอดีตที่ผ่านมากัน
1. โครงการทางด่วนขั้นที่สองเป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทยร่วมกับ บจก.กูมาไกกูมิ จากประเทศญี่ปุ่น ทางด่วนนี้วิ่งขึ้นเหนือไปจนถึงบางปะอินและสามารถเชื่อมต่อไปยังถนนสายเอเซีย
2. โครงการดอนเมืองโทลเวย์ก็สร้างคร่อมอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิตไปสิ้นสุดตรงบริเวณประมาณ ก.ม.35 ของ ถ.พหลโยธิน โครงการนี้เป็นของกรมทางหลวง
3. โครงการโฮปเวลล์ก็สร้างคู่ขนานกับถนนวิภาวดีโดยคร่อมเส้นทางรถไฟไปทางด้านเหนือเช่นกัน โครงการนี้เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกับบริษัทของมหาเศรษฐีฮ่องกงชื่อกอร์ดอน วู
โดยที่ทั้งสามเส้นทางนี้ล้วนแต่แข่งขันกันเองจึงปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
1. ทางด่วนขั้นที่สองโดยเฉพาะตั้งแต่ ถ.แจ้งวัฒนะขึ้นไปทางด้านเหนือมีผู้ไทน้อยมากมากถือได้ว่าเป็นช่วงที่ขาดทุน
2. ดอนเมืองโทลเวย์ ก็มีผู้ใช้สอยน้อยมาก จนต้องมีการนำห่างบัตรมาจับฉลากแลกสร้อยคอทองคำ จนถึงสมัยรัฐบาลทักษิณได้ส่งเสริมได้ลดราคาเหลือเพียง 20 บาทตลอดสายจึงมีผู้คนขึ้นกันอย่างล้นหลาม แต่ในภายหลัง เมื่อมีการขึ้นค่าโดยสารยังมหาโหดก็กลับมีคนขึ้นน้อยลงเป็นอย่างมากยกเว้นในชั่วโมงเร่งด่วนจริงๆ
3. โครงการโฮปเวลล์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด
ถ้าหน่วยราชการโดยรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ มีการทำงานอย่างมีบูรณาการ ก็ควรให้สร้างเฉพาะโครงการโฮปเวลล์ ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาทางรถไฟและทางด่วนไปพร้อมๆ กัน โดยไม่พึงสร้างทางด่วนบนทางหลวงเดิมคือ ถ.วิภาวดี ส่วนกรณีทางด่วนขั้นที่สองก็ควรให้สิ้นสุดลงเฉพาะถนนงามวงศ์วานหรืออย่างมากไม่เกินแจ้งวัฒนะ และให้รวมเส้นทางกับโครงการโฮปเวลล์เพื่อเชื่อมต่อไปจนถึงรังสิต และอาจพัฒนาตามทางรถไฟต่อไปจนถึงบางปะอินและวังน้อยก็ยังได้ แต่โดยที่เป็นเรื่องของ "คนละกระเป๋า" จึงต่างคน "ต่างสร้างดวงดาว" และล้มเหลวในที่สุด ที่สำคัญทำให้ผลประโยชน์ของชาติเสียหาย
เหตุการณ์ทำนองนี้อาจจะเกิดขึ้นในกรณีรถไฟฟ้าสายสีแดงที่วิ่งจากบางซื่อไปถึงรังสิต และรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่วิ่งจากจตุจักรไปจนถึงลำลูกกา เพราะทั้งสองเส้นนี้วิ่งขนานกันและห่างกันเพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น นี่ก็เป็นเรื่องคนละกระเป๋าระหว่าง รฟม. และกรุงเทพมหานครอีกเช่นกัน ถ้าคิดอย่างมีบูรณาการก็ควรสร้างเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีแดง และให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเชื่อมต่อกับสายสีแดงได้สะดวกที่ตลาดจตุจักร จากนั้นหากต้องการแยกสายเลี้ยวเข้าถนนรามอินทรา ถนนลำลูกกาหรือถนนรังสิตนครนายก ก็สามารถเลี้ยวเข้าได้โดยง่ายไม่วิ่งคู่ขนานเส้นทางกันเข่นนี้
ในสมัยรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่สามารถสร้างบูรณาการได้ น่าเสียดายที่ในสมัยรัฐบาลรัฐประหารก็ยังไม่สามารถสร้างบูรณาการได้เช่นกัน
อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 118/2559: วันจันทร์ที่ 04 เมษายน 2559
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน