กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
กรมบัญชีกลางย้ำร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... ไม่กระทบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เป็นการพาณิชย์โดยตรง ชี้มาตรา 7 ยกเว้นให้รัฐวิสาหกิจออกระเบียบเองได้
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจ
เนื่องจากมาตรา 7(1) ได้ยกเว้นการใช้บังคับกรณีการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง โดยการยกเว้นดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อเร่งออกกฎหมายลูกของพ.ร.บ.นี้ ซึ่งกรมบัญชีกลางได้มีจัดตั้งคณะทำงานเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินงานร่วมกับรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจจำนวนมากได้ส่งข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรงแล้ว เมื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนจะเร่งประชุมคณะทำงานโดยทันที
ขณะนี้ กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการยกร่างประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ซึ่งจะได้รับการยกเว้นตามมาตรา 7(1) ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.นี้ ยกตัวอย่างการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นการพาณิชย์โดยตรง เช่น ธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ การให้บริการธุรกิจการเงิน รับ ฝาก โอน ถอน การให้สินเชื่อ การออกสลาก
การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการให้บริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากธุรกรรมใดที่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการพาณิชย์โดยตรงหรือไม่ สามารถขอยกเว้นมายังคณะกรรมการนโยบายเป็นรายกรณีได้ตามมาตรา 7 วรรคสอง
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการปรับแก้ไขร่างพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... ในประเด็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับขอบเขตของร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ดำเนินการพิจารณาและปรับแก้ไขส่วนที่มีนัยสำคัญเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมจะนำเสนอให้ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ก่อนเสนอด้แก้ไขส่วนที่มีนัยสำคัญเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.รรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา เพื่อออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
"ผมเชื่อว่าพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฉบับนี้ จะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นระบบมากขึ้นและการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐทุกแห่งเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่าง
มีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ที่สำคัญประเทศจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้อย่างมาก" นายมนัส กล่าว