รัฐบาลเดินหน้าดูแลอุตสาหกรรมเพชร ป้องกันผลกระทบจาก " Conflict Diamonds "

ข่าวทั่วไป Monday December 3, 2001 09:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--บีโอไอ
รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญอุตสาหกรรมเจียระไนเพชร ตั้งคณะทำงานหามาตรการป้องกันและควบคุมการค้าเพชรที่ผิดกฎหมาย กันผลกระทบจากมาตรการของ UN ในเรื่อง Conflict Diamonds ที่นำมาควบคุมการนำเข้าเพชรจากอัฟริกา
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยถึงกรณีที่องค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนให้มีมาตรการควบคุมการซื้อขายเพชรที่มีแหล่งที่มาจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายหรือกบฏในประเทศที่มีสงครามกลางเมืองในอัฟริกา(Conflict Diamonds) ว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมมาตรการควบคุมในเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการค้าเพชรที่ผิดกฎหมายขึ้น
การตั้งคณะทำงานชุดนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ให้การสนับสนุนการค้าขายเพชรกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายในอัฟริกา(Conflict Diamonds) ซึ่งการแสดงเจตจำนงนี้จะเป็นการช่วยป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเจียระไนเพชร 1 ใน 5 อันดับแรกของโลกที่มีรายได้จากการส่งออกเพชร ปีละกว่า 20,000 ล้านบาท ส่งออกเครื่องประดับกว่า 30,000 ล้านบาท และยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการขยายตัว
"สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการเจียระไนเพชรและเครื่องประดับหากไม่เข้าร่วมในมาตรการควบคุมเพชรนั้น ประเทศไทยอาจถูกตัดสิทธิจากประเทศภาคีในการซื้อวัตถุดิบเพชรหรือเพชรดิบสำหรับป้อนอุตสาหกรรมเครื่องประดับของไทย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น และจะเกิดผลกระทบต่อการจ้างงานจำนวนมาก"เลขาธิการบีโอไอกล่าว
อนึ่ง คณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นนั้น ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, กระทรวงต่างประเทศ, กรมศุลกากร, กรมส่งเสริมการส่งออก, กรมการค้าต่างประเทศ, กรมทรัพยากรธรณีสมาคมผู้ประกอบการเจียระไนเพชร, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ บทบาทหน้าที่ของคณะทำงานชุดนี้จะเป็นผู้ประสานงานและติดตามมาตรการแก้ไขปัญหา Conflict Diamonds ให้มีความสอดคล้องกับมาตรการความร่วมมือภาครัฐบาลของประเทศที่มีการค้าเพชร (Kimberley Process) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประชุมยกร่างของ Kimberley Process ในประเทศบอลวานา โดยมีผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมด้วย
การส่งออกเพชรเจียระไนของไทยนั้น ในปี 2543 มีมูลค่าการส่งออกมูลค่า 20,978 ล้านบาทมีตลาดส่งออกไปยังประเทศอิสราเอล คิดเป็นมูลค่า 8,875 ล้านบาท หรือร้อยละ 42.2 รองลงส่งออกไปยังประเทศเบลเยี่ยม คิดเป็นมูลค่า 8,238 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.2 การส่งออกส่วนหนึ่งเป็นการรับจ้างเจียระไนจากประเทศต่างๆ ได้แก่ เบลเยี่ยม และอิสราเอล อีกส่วนเป็นการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการส่งออกในรูปของเครื่องประดับอีกด้วยโดยในปี 2543 ส่งออกมูลค่า 33,032 ล้านบาท--จบ--
-ปส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ