กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้โปรดยับยั้งการสร้าง "บ้านคนจน" (ดูรายละเอียดได้ที่http://on.fb.me/1Pu5Rtd) และเมื่อวานนี้ (3 ธันวาคม 2558) ดร.โสภณ ได้รับเชิญจากคุณธรรมศักดิ์ ลมุนพันธุ์ ในรายการ "จับข่าวคุย" ของช่องสุวรรณภูมิ (21:00 - 22:00) ให้ไปสัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ AREA แถลงฉบับนี้จึงขอนำเทปการสัมภาษณ์มาเผยแพร่ เพื่อให้ท่านผู้สนใจได้รับทราบ
ทั้งนี้ ดร.โสภณ ชี้ว่าโครงการ "บ้านคนจน" นี้ แม้จะเป็นความปรารถนาดีที่หวังช่วยเหลือประชาชน แต่เป็นแนวคิดที่ผิดมหันต์เนื่องจากได้รับข้อมูลเท็จ หากดำเนินการจะเป็นภัยต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง ทั้งนี้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวว่า "ล่าสุดจึงต้องการสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มอีก 2.5 ล้านยูนิตในอีก 2 ปีข้างหน้า" ตัวเลขข้างต้นใช้อ้างว่ามีความต้องการที่อยู่อาศัยสูง จึงจำเป็นต้องสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับคนจน อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เป็นเท็จ
ตามตัวเลขของทางราชการ จำนวนประชากรไทย ณ สิ้นปี 2557 มี 65.12 ล้านคน และมีจำนวนบ้านอยู่ 24.09 ล้านหน่วย เมื่อพิจารณาจากอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรและบ้านในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าอัตราเพิ่มของประชากรเป็นเพียง 0.5% ต่อปีซึ่งถือว่าเพิ่มน้อยมาก ไม่ค่อยส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 2.65% ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรหลายเท่าตัว ทำให้จำนวนคนเฉลี่ยต่อที่อยู่อาศัยหน่วยหนึ่งลดลงจาก 3.01 คนในปี 2552 เป็น 2.7 คนในปี 2557 ความขาดแคลนที่อยู่อาศัยจึงไม่มี และหากนำอัตราเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัย ณ 2.65% ต่อปี ก็จะคำนวณได้ว่า จำนวนบ้าน ณ สิ้นปี 2558 น่าจะเป็น 24.73 ล้านหน่วย และเป็น 26.05 ล้านหน่วยในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.33 ล้านหน่วย ดังนั้นจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นถึง 2.5 ล้านหน่วยดังที่รัฐมนตรีอ้าง
ยิ่งกว่านั้นตามที่ "จากนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก ผู้ด้อยโอกาส ผู้อยู่อาศัยในบ้านเช่า บ้านพักตามโรงงาน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดบริการพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยมีเป้าหมายเร่งด่วนคือ ผู้มีรายได้น้อยจำนวน 2.7 ล้านครัวเรือน. . . ในราคาหน่วยละ 6 แสนบาท" รัฐบาลคงได้รับข้อมูลผิด จะเป็นโทษมหันต์
องค์การสหประชาชาติระบุว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดความยากจนลงอย่างมากในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดมีคนยากจนอยู่ 5.4 ล้านคน ในจำนวนนี้ 88% อยู่ในเขตชนบท ที่เหลืออีก 12% อยู่ในเขตเมือง หากสมมติว่าคนจนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นประมาณ 60% ของคนจนเมืองทั้งหมด ก็จะมีจำนวน 388,800 คน จากจำนวนประชากรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งหมดประมาณเกือบ 10 ล้านคน หรือ 3.9% เท่านั้น
ผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัดไม่ใช่จะเป็นคนยากจนเสมอไป เพราะจำนวนคนจน 388,800 คนข้างต้น ยังน้อยกว่าผู้อยู่อาศัยชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คนจนเหล่านี้อาจเป็นคนเร่ร่อน คนงาน คนรับใช้ตามบ้าน หรือบุคคลอื่นที่นายจ้างอาจจัดหาที่อยู่อาศัยให้ ฯลฯ ประชากรในชุมชนแออัดส่วนใหญ่ไม่ใช่คนยากจน และมีคนที่เช่าบ้านในชุมชนแออัดอยู่ 30% การสร้างที่อยู่อาศัย 2.7 ล้านหน่วย จึงเกินกว่าจำนวนครัวเรือนคนจนนับสิบเท่า
การอ้าง "คนจน" ไปสร้างที่อยู่อาศัยจำนวนมากมาย จึงไม่ถูกต้อง ในประเทศไทยไม่เคยมีปัญหาขาดแคลน ดร.โสภณ ยังเป็นประธานมูลนิธิอิสรชน ช่วยเหลือประชาชนคนเร่ร่อน ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิพบอยู่เพียง 3,249 คนในเขตกรุงเทพมหานคร ราคาที่อยู่อาศัยก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นจนสร้างความเดือดร้อน ยิ่งกว่านั้นราคาค่าก่อสร้างในรอบ 1 ปีทีผ่านมาก็ลดลงประมาณ 6% ภาคเอกชนก็สามารถสร้างบ้านได้ดีอยู่แล้ว
การสร้างที่อยู่อาศัยโดยภาครัฐจึงไม่มีจำเป็นนัก ในแง่หนึ่งการสร้างใหม่โดยภาครัฐอาจถือเป็นการเอื้ออาทรผู้รับเหมา บริษัทวัสดุก่อสร้างหรือเพื่อให้หน่วยราชการที่รับผิดชอบได้มีงานทำไป และในบางกรณี ก็ควรระมัดระวังเรื่องการรั่วไหลของเงินด้วยเพราะงบประมาณค่อนข้างสูงอีกด้วย
ดังนั้น ดร.โสภณ จึงคัดค้านการสร้าง 'บ้านคนจน' เพราะเป็นเพียงการอ้างคนจน และอ้างข้อมูลที่เป็นเท็จ ทั้งที่ประเทศไทยไม่มีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในระยะ 20 ปีข้างหน้านี้ การดันทุรังสร้าง รังแต่จะสร้างหนี้ สร้างปัญหาแก่ชาติและประชาชนในการแบกรับภาษี เป็นการเกื้อหนุนประโยชน์ให้แก่ผู้รับเหมา บริษัทเหล็ก บริษัทปูนซีเมนต์ อีกทั้งยังมีโอกาสรั่วไหล ตรวจสอบได้ยาก ในขณะที่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง
สำหรับทางออกที่เหมาะสมนั้น ในปัจจุบันยังมีบรรดาบ้านราคาถูกที่มีอยู่มากมาย ซึ่งรัฐบาลควรส่งเสริมให้ซื้อมากกว่าจะสร้างใหม่ บ้านเหล่านี้ ได้แก่บ้านของการเคหะแห่งชาติ ทั้งบ้านเอื้ออาทรและเคหะชุมชนอื่นๆ สามารถให้ทั้งขายหรือให้เช่าในราคาถูกทันที บ้านของโครงการที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน และบ้านที่ถูกยึดในกรมบังคับคดี บริษัทบริหารสินทรัพย์หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมทั้งบ้านว่าง หรือบ้านที่สร้างเสร็จแต่ไม่มีใครอยู่ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 300,000 หน่วยทั่วเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รัฐบาลจึงควรนำทรัพย์เหล่านี้มาขายใหม่ ให้ประชาชนได้ซื้อในราคาถูก แก้กฎหมายให้สามารถบังคับคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ถือเป็นการระบายสินค้าราคาถูกในตลาด มากกว่าจะสร้างใหม่
นอกจากนี้ การคุ้มครองผู้บริโภคซื้อบ้านเช่นการบังคับให้มีการประกันเงินดาวน์ตามพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมีหลักประกันต่อการซื้อบ้าน รวมทั้งการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้มีอุปทานที่ดินมากขึ้น ราคาบ้านจะได้ไม่แพง รวมทั้งการเก็บภาษีกับผู้เก็งกำไร เพื่อไม่ให้มาแย่งซื้อมาขายต่อ ทำให้ราคาสูงขึ้นเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น
อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 369/2558: วันศุกร์ที่ 04 ธันวาคม 2558
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน