กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
การปราบปรามการทุจริตทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนนั้น ต้องดำเนินการจากต้นตอจนถึงวัตรปฏิบัติในการดำรงชีวิต (ธุรกิจ) อย่างเป็นธรรม เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สังคมมีความสุจริตที่แท้ ก็คือการทำให้สังคมนั้นมีความยุติธรรมโดยเสมอหน้ากัน หาไม่การทุจริตก็จะดำรงอยู่ต่อไป ที่สำคัญพึงมีความพอเพียงตามพระราชดำรัสของในหลวงของเราอีกด้วย
อยุติธรรมคือที่มาของทุจริต
การที่ลือกันว่าเงินง้างได้ทุกสิ่งนั้น นอกจากจะทำให้ประชาชนเข้าใจผลของการทุจริตแล้ว ยังส่งผลต่อการสร้างวัฒนธรรมการทุจริตในสังคมกันอย่างถึงรากลึก เพราะจะยิ่งทำให้ผู้คนยิ่งเร่งขวนขวายหาเงินและอำนาจ (โดยไม่เลือกวิธีใช้) เพราะเงินใช้อำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดี กรณีข่าวดังที่ว่าคนมีฐานะดีทำผิดกฎหมายแต่ได้รับการผ่อนหนักเป็นเบา หรือรอดเงื้อมมือกฎหมายไปได้ มีให้เห็นอยู่เนือง ๆ จนสังคมชาชินกับเรื่องเช่นนี้ไปแล้ว
ในกรณีเหล่านี้ คนทำผิดอาจได้รับโทษน้อยจนดู "ขัดสายตา" ของสังคม แต่พวกเขาก็ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นอาชญากรจริงๆ บางทีสังคมก็อาจควรเข้าใจบ้าง ไหนๆ ผู้เสียหายก็ตายไปไม่อาจฟื้นคืนได้แล้ว! นอกจากกรณีข้างต้นแล้ว ยังอาจมีคนใหญ่คนโตคนมีเงินอีกมากมายที่ยังลอยนวลกันอยู่ บางรายหนีคดีนับสิบปี พอถูกจับได้ก็ยังได้รับการอะลุ่มอล่วยเป็นอย่างดี
กรณีแบบนี้ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีเงิน ก็คงประสบความลำบากมาก ประชาชนทั่วไปคงยากที่จะได้รับโอกาสเยี่ยงนี้ บางคนอาจเสียเวลาไปครึ่งค่อนชีวิตในคุก บางคนต้องตายคาคุกแม้ป่วยไข้ เสียคนในคุก ออกจากคุกมาก็ได้แต่อยู่ไปวัน ๆ แม้แต่ข้าราชการบางคนก็ยังถูกกลั่นแกล้งกระทั่งออกจากราชการก็ยังมี บางคนหาทางออกจากความอยุติธรรมไม่ได้ สุดท้ายต้องปลิดชีพตัวเอง เป็นต้น
กรณีการผ่อนหนักเป็นเบาให้คนมีเงินมีฐานะในสังคมเหล่านี้ทำให้ประชาชนเข้าใจไปว่าเงินง้างได้ทุกอย่าง และทำให้ทุกคนต้องเร่งหาเงินโดยไม่เลือกวิธีที่ใช้เพื่อนำมาเป็นหลักประกันว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับตน จะได้มีทรัพย์มาช่วยผ่อนหนักเป็นเบาหรือรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายไปเลย นี่จึงเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมการทุจริตที่ทับถมยิ่งขึ้น
ดังนั้น หากสังคมมุ่งหวังจะขจัดการทุจริตให้สิ้น ทางราชการทุกภาคส่วนต้องแสดงให้ประชาชนเห็นการสร้างความยุติธรรมอย่างจริงจังในสังคม เพื่อให้ประชาชนวางใจกระบวนการยุติธรรมทุกระดับได้ ถ้าเกิดเหตุใด ๆ ก็ไม่ต้องไปติดสินบนใคร ทำให้สังคมมั่นใจได้ว่าทุกคนในสังคมมีความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนจนหรือคนรวยก็ตาม
เมืองไทยเราเจริญไม่ได้มาก ไม่ใช่เพราะคุณภาพคนไม่ดี แต่เป็นเพราะมีอภิสิทธิ์ชนที่ใหญ่คับฟ้า คนดีมีความสามารถอยู่ยาก ข้าราชการบางตำแหน่งจะเจริญก้าวหน้าได้ต้องขึ้นอยู่กับ "ดวง" ซึ่งไม่ใช่แปลว่าดวงดีหรือไม่ดี แต่เป็นคำย่อมาจาก "ด.เด็กใคร ว.วิ่งหรือไม่ และ ง.เงินถึงหรือไม่" นั่นเอง ที่เรียกร้องกันให้สุจริต และไม่ทุจริตจึงเป็นเพียงแค่การเล่น "ปาหี่" ตราบที่ในสังคมยังมีอภิสิทธิชนใหญ่คับฟ้าอยู่เช่นนี้
ดังนั้น การสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าทุกคนเท่าเทียมกันตามกฎหมาย จึงเป็นหนทางที่สำคัญที่สุดในการปราบปรามการทุจริต และทำให้ทุกคนตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่อยู่อย่างแบ่งชั้นวรรณะเช่นทุกวันนี้
ทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์
ถ้ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ การทุจริตและประพฤติมิชอบก็จะเกลื่อนกลาดแก้ไขไม่ได้ การที่ป่าไม้ในประเทศไทยหดหายไปแทบหมดแล้ว ก็เพราะกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ เราไม่ยึดหลักนิติศาสตร์ แต่ยึดหลักรัฐศาสตร์ ผ่อนปรนไปเรื่อย คนหนึ่งบุกรุกทำลายป่าไม้อันเป็นสมบัติของส่วนรวมได้โดยไม่ถูกลงโทษ คนอื่นก็เอาอย่างบ้าง ทางแก้ปัญหาการทำลายป่าก็ทำแบบแสนมักง่าย เข้าข่ายเอาดีใส่ตัว ก็คือเน้นการปลูกป่า แต่ไม่สนใจปราบปรามการบุกรุก
ป้ายแสดงความรับผิดชอบเป็นอย่างดี
เลี้ยงสุนัขก็ต้องรับผิดชอบโดยเก็บอุจจาระด้วย
มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือการปักป้ายเตือนเรื่องสารเคมีฆ่าแมลงบนพื้นหญ้า ซึ่งแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะการป้องกันเด็ก ๆ ไม่ให้มาถูกสารเคมี แต่ในอีกแง่หนึ่ง การปักป้ายเช่นนี้ก็เป็นการป้องกันตัวของบริษัทที่ฉีดสารเคมีเหล่านี้ หากเด็กหรือบุคคลใดเป็นอันตรายเพราะสารเคมีนี้ ตนจะได้รับโทษผ่อนหนักเป็นเบาได้ ด้วยเหตุที่กฎหมายในประเทศตะวันตกมีบทลงโทษรุนแรงต่อผู้กระทำผิด จึงทำให้บุคคล หรือวิสาหกิจใด ๆ หลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ "หิริโอตัปปะ" จึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการ "ปลุกระดม" ให้ทำดีแต่อย่างใด แต่มีพื้นฐานมาจากกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม แม้แต่ป้าย "หลังเต่า" บนถนน ก็ต้องเขียนเตือน "Speed Bump Ahead" เป็นต้น
กรณีมรรยาทผู้ขับขี่รถยนต์ในประเทศตะวันตก ก็ไม่ได้เกิดจากการ "ปลุกระดม" ให้ทำดีตามหลักศาสนา แต่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่เฉียบขาดเช่นกัน โดยจะเห็นว่าหากมีคนข้ามถนน หรือพบผู้ขับขี่รถจักรยาน ก็ต้องหยุดโดยดุษณี คนข้ามถนนก็ไม่ต้องวิ่งข้ามเพราะเกรงว่ารถยนต์จะตัดหน้า หรือเร่งเครื่องให้พ้นไปก่อน การกระทำผิดกฎจราจรจะส่งผลร้ายรุนแรงต่อการขับรถยนต์และอนาคตของตนเป็นอย่างมาก
ป้ายแสดงโทษของการทำผิดกฎหมายไว้ชัดเขน ไม่มีลดหย่อนใดๆ โจรจึงต้องคิดหนัก
ความสงบสุขเกิดแต่การบังคับใช้กฎหมายจึงสำคัญกว่าการส่งเสริมการทำดี ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ในนครต่าง ๆ ของประเทศตะวันตกจะขับลาดตระเวนหรือจอดตามจุดเสี่ยงต่าง ๆ อยู่เสมอ การกระทำเช่นนี้บางท่านอาจมองว่าเป็นเพราะมีอาชญากรรมถี่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยการลาดตระเวนเช่นนี้ จึงทำให้สถิติฆาตกรรมของไทยสูงกว่าประเทศตะวันตกหรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาที่ตามภาพลักษณ์ในหนังฮอลลีวูด อาจดู "เถื่อน" กว่าความเป็นจริง สำหรับในบางประเทศ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ออกมาพบประชาชนตอนรีดไถข้างถนนหรือมัวแต่ไปนั่งเฝ้าร้านทอง เป็นต้น
ในประเทศตะวันตก ขี่จักรยานได้เพราะทุกคนเคารพกฎหมาย (บทลงโทษแรง) แต่ถ้าในไทย ค่อนข้าง "ปล่อยผ่าน"
เราจะทำประเทศไทยให้ศิวิไลซ์ มีอารยะและมีความหวังที่จะมีขีดความสามารถสูงขึ้นได้ ต้องปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทางรอดประเทศไทยคือต้องสร้างความโปร่งใส เป็นธรรม ทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มีการลงโทษรุนแรง เสมอหน้า เฉียบขาด ต่อเนื่อง จริงจัง ไม่ใช่แบบ "ไฟไหม้ฟาง" หรือ "ลูบหน้าปะจมูก"
หิริโอตตัปปะ มาจากกฎหมาย
ทำไมสังคมตะวันตกเจริญ เหตุผลประการหนึ่งเพราะสังคมตะวันตกมีวิญญูชนจำนวนมากกว่าต่างหาก เรามักมองว่าสังคมตะวันตกเลวร้ายทางศีลธรรมโดยมักดูจากภาพยนตร์แนวอาชญากรรมของฮอลลีวูดมากกว่าจะเข้าใจสภาพที่เป็นจริง ว่าโดยเฉลี่ยแล้ว สังคมตะวันตกสงบสุขกว่าและมีอาชญากรรมน้อยกว่าสังคมไทย นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ คนไทยที่ไปอยู่ในประเทศตะวันตกนานๆ ส่วนมากไม่หวนกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในแผ่นดินเกิด
คนไทยบางคนที่กลับมาตายบ้านเกิดก็คงเพราะล้มเหลว หรืออาจมีสำนึกรักบ้านเกิดรุนแรงผิดปกติ เพราะปกติคนไปอยู่เมืองนอกมากว่าค่อนชีวิต ก็คงมีใจผูกพันกับเมืองนอกไม่น้อย ก็คงคล้ายคนจีนโพ้นทะเล คงได้แค่คิดไปเยี่ยมบ้านเกิด คงไม่กลับไปตายที่เมืองจีนแน่นอน ยิ่งลูกหลานที่เกิดในประเทศตะวันตกยิ่งไม่ต้องพูดถึง คงแทบไม่มีใครกลับมาอยู่เมืองไทย
ในเมืองเล็ก ๆ ของรัฐออรีกอน มีคนไทยคนหนึ่งทำงานในร้านอาหารไทย เขาบอกว่าที่นี่มีความสงบสุขและปลอดภัยมาก ต่างจากเมืองไทยมากมาย แต่ที่เราคนไทยในประเทศไทยไม่รู้สึกรู้สาอะไรมาก ก็เพราะเราเคยชินกับสภาพแวดล้อมแบบไทย ๆ นั่นเอง อาจกล่าวได้ว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงกว่าไทยถึง 5 เท่านั้น สังคมมีความเป็นอยู่ที่เพียงพอ-พอเพียง
คนไทยคนหนึ่งในนิวยอร์กบอกว่าอยู่ที่นี่ดีกว่าเมืองไทย เพราะทุกคนเท่าเทียมกัน ทำให้เห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่อยู่อย่างแบ่งชั้นวรรณะแบบในประเทศไทย ในเกาะแมนฮัตตันอันแสนสับสนและดูมีภัย "ไอ้มืด" อยู่ทั่วไป (ตามหนังฮอลลีวูด) แต่กลับปรากฏว่าเด็กนักเรียนที่นั่นถูกสอนให้โกหกไม่เป็น ใครเป็นคนโกหกก็จะถือถูกตราหน้าเสียผู้เสียคนไปเลย เด็กก็ไม่โกหก การเป็นคนโกหกพกลม จึงเป็นเรื่องเสื่อมเสียศักดิ์ศรีเป็นอย่างยิ่ง แต่เมืองไทยเราสอนให้ "รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี" เพราะชีวิตไทย ๆ มันเสี่ยงเหลือเกินกับผู้มีอิทธิพล ฯลฯ
คุณลักษณะข้อหนึ่งของวิญญูชนก็คือการตรงต่อเวลา จะเห็นได้ว่าผู้คนในประเทศตะวันตกหรือแม้แต่วิญญูชนในโลกตะวันออกที่เจริญแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ ฯลฯ ต่างให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง คุณลักษณะข้อนี้เป็นเครื่องชี้วัดความเจริญหรือมีอารยธรรมของบุคคลในสังคม เพราะแสดงถึงการรักษาคำพูดและความซื่อสัตย์ที่เริ่มต้นจากเรื่องเล็ก ๆ อย่างไรก็ตาม บางทีเราก็ถูกสอนให้มองเห็นการนั่งทอดหุ่ยเป็นเรื่องดี ไม่ต้องรีบร้อนช่วงชิงกับใคร
คนอเมริกันมองว่า การลงทุนที่สำคัญที่สุดก็คือการลงทุนให้การศึกษาที่ดีที่สุดให้ลูก ไม่ใช่การลงทุนในทรัพย์สินเงินทอง เพราะในประเทศตะวันตก เขาต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก โดยถือเป็นหน้าที่พลเมือง แต่ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ยอมมี เพราะชนชั้นสูงไม่ยอม โดยนัยนี้ประเทศตะวันตกยิ่งมีประชากรที่มีคุณภาพจำนวนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ กว่ากรณีประเทศไทย ประเทศของพวกเขาจึงยิ่งเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น
คุณลักษณะของประเทศตะวันตกอีกอย่างหนึ่งก็คือ การบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดเสมอหน้ากัน เมืองไทยเรามักเอาจริงเป็นพัก ๆ เช่น การสวมหมวกกันน็อก และการข้ามทางม้าลาย เป็นต้น ประเทศตะวันตกสงบเรียบร้อยก็เพราะการลงโทษรุนแรง เจ้าของตึกใหญ่บนเกาะแมนฮัตตัน หรือดาราฮอลลีวูด ก็ติดคุกได้เพราะไม่เสียภาษี แต่ในประเทศไทยกลับมีอภิสิทธิ์ชน การบังคับใช้กฎหมายจึงลุ่ม ๆ ดอน ๆ ประเทศจึงพัฒนายาก
แม้ในประเทศตะวันตกไม่มีนักบวชมาเป่ากระหม่อม ไม่มีนักเทศน์มาพร่ำสอนซ้ำ ๆ ซาก ๆ แต่เขาก็สร้างอารยชนมาพัฒนาประเทศได้มากมายโดยการยึดถือกฎหมายอย่างเคร่งครัด และมีการตรวจสอบที่จริงจังและหากทำผิดก็ถูกลงโทษเสมอหน้ากัน
ส่งท้าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ จึงไม่ต้องทุจริต
"การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน... หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง"
ข้อความข้างต้นนี้เป็นพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง พระราชทานแก่พสกนิกรเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ที่อัญเชิญมานี้ ก็เพื่อให้สังคมได้ตระหนักว่า ในการบริโภคใด ๆ ก็ตาม เราควรประหยัด ไม่ควรฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ใช่ว่ามีเงินก็จะใช้สอยตามอำเภอใจ เพราะทรัพยากรทั้งหลายเป็นของทุกคนโดยเฉพาะลูกหลานของเราในอนาคต จึงเอามาใช้โดยไม่ยั้งคิดไม่ได้
ทุกวันนี้ถ้าเราดูโฆษณาทางจอทีวี ก็มักพบการจูงใจให้ใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั้งคิด เช่น การส่งเสริมให้กู้เงิน (ด่วน) ซึ่งในความเป็นจริงคนเราอาจไม่มีมีความจำเป็นอะไรในการใช้เงินด่วน (ถ้าไม่ใช่ในทางหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย) การโฆษณาให้กู้เงินกันมากมายเช่นนี้ อาจส่งเสริมให้เกิดการใช้สอยเกินตัว สร้างโอกาสทุจริต
ในแง่การเงินเคหะการของภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น มีข้อคิดดี ๆ สำหรับการเป็นหนี้ คือ:
1. ไม่มีความจำเป็นอย่ากู้ (โดยเฉพาะอย่ากู้มาเสพสุข ต้องเพื่อการลงทุนเป็นสำคัญ)
2. ถ้าต้องกู้ ก็อย่าสร้างหนี้หลายทาง (ตามความอยาก)
3. กู้แต่น้อย (อย่าเชื่อมั่นตัวเองจนเกินไป)
4. ผ่อนให้เสร็จเร็วที่สุด (เพราะการผ่อนช่วงแรก ๆ คือดอกเบี้ยทั้งนั้น)
แต่ทุกวันนี้เรากลับยุยงส่งเสริมให้กู้หนี้ยืมสินโดยไม่สนใจว่า เป็นการลงทุนหรือเพื่อการบริโภคกันแน่ บางคนมีบัตรเครดิตนับสิบใบ
การยินดีเป็นหนี้เพื่อซื้อความสบายเฉพาะหน้านั้น ไม่น่าจะมีจุดหมายปลายทางที่ดีงาม ผู้ชมชอบการเสพสุขมาก ๆ อาจยอมเสียศักดิ์ศรี-เกียรติภูมิ หรือกระทั่งยอมทรยศต่อชาติเพื่อตนเองในวันหน้าได้ การโฆษณา 'ยุยง' ให้ใช้โทรศัพท์มือถือนาน ๆ ถือเป็นการสร้างนิสัยฟุ่มเฟือยให้ประชาชนอีกเช่นกัน ถ้ามักง่าย-ฟุ่มเฟือยในเรื่องหนึ่งได้ เรื่องอื่นก็จะตามมา อย่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะเจ๊งก็เพราะการขาดการศึกษาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจพัฒนาที่ดินประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็คือการลงทุนเกินตัว
จะสังเกตได้ว่า โครงการใดที่ขาดการลงทุนอย่างเพียงพอในกระบวนการสำรวจวิจัยล่วงหน้า มักจะล้มเหลว นี่แสดงถึงภาวะ 'ฆ่าควาย เสียดายเกลือ' หรือ 'เสียน้อยเสียมาก เสียยากเสียง่าย' ถือเป็นการขาดวิสัยทัศน์สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจ ในทางตรงกันข้าม การลงทุนเกินตัว แสดงถึงการขาดความยั้งคิด การละโมบ มุ่งฟุ้งเฟื่องโดยขาดปัจจัยพื้นฐานที่ดี คือการขาดความตระหนักรู้ถึงความพอเพียงนั่นเอง
การเก็งกำไรก็เป็นความคาดหวังที่มุ่งลงทุนแต่น้อย แต่หวังผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะการเก็งกำไรในอส้งหาริมทรัพย์ ทอง และหุ้นในระยะสั้น เป็นต้น การนี้อาจส่งผลให้นักเก็งกำไร 'มืดบอด' จน 'มองโลกในแง่ดี' (เกินจริง) และขาดความรอบคอบในการลงทุน
อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นหนทางหนึ่งของการช่วยยับยั้งความร้อนแรงของการเก็งกำไร หรือการสิ้นเปลืองทรัพยากรจากการเก็งกำไร ในอีกทางหนึ่งก็จะช่วยส่งเสริมให้มีการซื้อขายทรัพย์สินมากขึ้น เพราะผู้ซื้อที่แท้จริงเกิดความมั่นใจในตลาด นอกจากนี้ยังจะช่วยคัดสรรผู้ซื้อที่มีคุณภาพให้ผู้ประกอบการอีกด้วย
ในการทำธุรกิจ SMEs เราจึงต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ยิ่งมีทุนน้อย ยิ่งต้องรอบคอบ เพราะการก้าวพลาดย่อมยังความเสียหายมาก โดยเฉพาะการก้าวพลาดที่ไม่สมควร เพราะความฟุ้งเฟ้อนั่นเอง
สุดท้ายนี้ ขอยกคำสอนของท่านพุทธทาสมาฝากไว้บทหนึ่งว่า
"อันบุคคล กตัญญู รู้คุณโลก อุปโภค บริโภค มิให้หลาย
ข้าวหรือเกลือ ผักหรือหญ้า ปลาหรือไม้ ฯลฯ
รู้จักใช้ อย่าทำลาย ให้หายไป" {2}
ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ย่อมไม่มีปัจจุบันที่สงบสุขและไม่มีบั้นปลายที่ดีงาม
หมายเหตุ: ดร.โสภณ พรโชคชัย ได้เขียนบทความนี้ลงในหนังสือคุณธรรม นำธุรกิจ เล่ม 3 ให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงนำมาเผยแพร่เพื่อประโยชน์ต่อผู้อ่านโดยทั่วไป
อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 34/2559: วันอังคารที่ 26 มกราคม 2559
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน