ระวัง! ทำดีเพื่อปกปิดความชั่ว และทุจริต

ข่าวอสังหา Friday November 6, 2015 17:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในท่ามกลางการรณรงค์ทำดี มุมที่อย่าลืมมองก็คือ "ทำดีเพื่อปกปิดความชั่ว" ข้อคิดจาก ดร.โสภณ ผู้เชี่ยวชาญด้าน CSR ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ และได้ไปบรรยายในระดับนานาชาติ รวมทั้งการสอนในระดับปริญญาเอกทางด้านนี้ รวมทั้งได้เขียนหนังสือ 2 เล่มคือ "CSR ที่แท้"http://bit.ly/1MfpeQH) และ "คุณธรรมธุรกิจ" http://bit.ly/1WDogCH) โดยสามารถ download ได้ฟรี ดร.โสภณ ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการรณรงค์ทำดีอย่างบ้าคลั่งไว้ว่า "นี่คือกลยุทธ์ 'ขั้นเทพ' ที่อ้างการทำดี แต่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ขาด CSR ที่แท้" ท่านเคยสงสัยไหม ทำไมหนอพวกคุณหญิงคุณนายทำงานแจกของสงเคราะห์สังคมมาร่วม 60 ปีแล้ว ปัญหาสังคมก็กลับยิ่งหนัก มีการรณรงค์เรื่องปลูกป่าหรือเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งต่าง ๆ กลับยิ่งเลวร้ายลง พื้นที่ป่าปลูกใหม่เทียบไม่ได้เลยกับป่าที่ถูกทำลาย ปัจจุบันเราเดาะเรียกการทำดีทำนองนี้เสียเท่ว่า CSR ซึ่งมักเป็นไปแบบ 'ลูบหน้าปะจมูก' แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ บ่อยครั้งกลับเป็นการทำดีเพื่อปกปิดความชั่ว-ปกป้องคนชั่ว ความรับผิดชอบหรือ Responsibility คือพันธกิจที่ต้องปฏิบัติ ละเลยไม่ได้ หาไม่ถือเป็นการละเมิดซึ่งย่อมมีโทษตามกฎหมายแรงงาน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา และกฎหมายผังเมือง ฯลฯ การมี CSR ก็คือการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ขัดจรรยาบรรณ การมี CSR จึงเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญที่มีอารยธรรม ไม่ไปฉกฉวย ตีชิง เบียดเบียนหรือก่ออาชญากรรม (ทางเศรษฐกิจ) กับใครเพื่อให้ตนอยู่รอด การให้-อาสา: ไม่ใช่หัวใจ CSR ใครอยากบริจาคเพิ่มเติม อยากทำดีเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นสิ่งที่พึงอนุโมทนา หรือถือเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่สวยงาม แต่นี่ไม่ใช่หัวใจหรือเนื้อหาใจกลางของ CSR เพราะเป็นการอาสาโดยใจสมัคร ไม่ใช่ความรับผิดชอบ รูปแบบการทำดีอาจเป็นการแจกข้าวของ การช่วยเหลือเด็กหรือผู้ด้อยโอกาส ชุมชน หรือปลูกป่า ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นทั้งการให้เปล่า การช่วยพัฒนา หรือการให้การศึกษา เป็นต้น การชูประเด็นการให้-อาสาทำดี เป็นการเลือกปฏิบัติไปในด้านการทำดี แต่ละเลยในส่วนที่ไม่ละเมิดกฎหมาย จะสังเกตได้ว่าวิสาหกิจที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมายมักชอบรณรงค์ CSR แบบการทำดีเป็นอย่างยิ่ง เช่น วิสาหกิจปูน พลังงานหรือแร่ธาตุที่มีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อมมหาศาล (หากไม่จัดการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด) หรือแม้แต่สถาบันการเงินชั้นนำบางแห่งที่ได้ชื่อว่ามี CSR ดีเยี่ยมในแง่การบริจาคเงินเพื่อสังคมมากมาย ก็อาจเอาเปรียบลูกจ้าง จนสหภาพแรงงานต้องออกมาเคลื่อนไหวประท้วง เป็นต้น บ่อยครั้งที่ทำดีเพื่อปกปิดคนผิดและความผิด การทำดีแบบแอบแฝงและไร้ประสิทธิผล นอกจากจะได้ดีเฉพาะคนทำดีแล้ว บ่อยครั้งยังเป็นการช่วยปกปิดความชั่วของคนชั่วที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้เสื้อคลุมของคนดี เช่น เรารณรงค์ปลูกป่ากันใหญ่ แต่ไม่เคยใส่ใจว่า เราจะรณรงค์กันปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่ากันอย่างไร ในปี 2504 มีพื้นที่ป่าไม้อยู่ 273,629 ตร.กม. (53% ของพื้นที่ประเทศไทย) แต่ ณ ปี 2547 เหลืออยู่เพียง 167,591 ตร.กม. (33% ของพื้นที่ประเทศไทย) หรือหายไปเท่ากับ 68 เท่าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือเท่ากับเราสูญเสียพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกรวมกัน เราพบเห็นการรณรงค์การทำดีมีคุณธรรมกันอย่างบ้าคลั่ง นี่อาจเป็นอาชญากรรมที่แสนแยบยลเพื่อเบื่อเมาไม่ให้สังคมรับรู้สาเหตุแท้จริงของปัญหา ปัญหาในทุกวันนี้ไม่ใช่อยู่ที่ประชาชนทำดีน้อยไป แต่อยู่ที่มีคนจำนวนน้อยที่มีอิทธิพลและอำนาจ ละเมิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกลับเอาเอาหูไปนาตาไปไร่ต่างหาก เราจึงควรรณรงค์ไม่ให้คนทำผิดกฎหมาย ยิ่งกว่านั้นเราควรรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักปกป้องและหวงแหนสิทธิของตนเองตามกฎหมายและไม่เฉยชาต่อการกระทำผิดกฎหมายที่ส่งผลต่อตนเอง ชุมชนและสังคม รวมทั้งรณรงค์ให้วิสาหกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยไม่ฉ้อฉล และให้รัฐบาลรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด วิสาหกิจที่ดีต้องประกอบสัมมาอาชีพตามกรอบของกฎหมายโดยเคร่งครัดเพราะนี่คือเส้นแบ่งระหว่างสุจริตชนกับอาชญากร ระหว่างวิสาหกิจที่มี CSR กับวิสาหกิจที่เอาเปรียบหรือฉ้อฉลสังคม ผู้ที่ไม่เบียดเบียนสังคมย่อมได้รับการยกย่อง ยิ่งเมื่ออาสาทำดี ยิ่งเป็นมงคลต่อชีวิตและกิจการ และสิ่งที่พึงระวังเป็นพิเศษก็คือการทำดีเพื่อปกปิดความชั่วเพื่อให้คนชั่วได้อยู่สร้างทุกข์เข็ญกับสังคมตราบนานเท่านาน รวมทั้งเอางบประมาณ "ทำดี" ทั้งหลายไปโกงกันโดยไม่มีใครกล้าตรวจสอบ และถ้าถูกจับได้ก็แค่ปลาซิวปลาสร้อยเป็นสำคัญ อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 336/2558: วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ