"สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม" นิมิตรหมายใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมไทยที่ดีขึ้น ตั้งเป้าลดขยะบรรจุภัณฑ์ 12 เปอร์เซ็นต์ภายใน 5 ปี

ข่าวทั่วไป Wednesday December 21, 2005 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
"สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม" นิมิตรหมายใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมไทยที่ดีขึ้น ตั้งเป้าลดขยะบรรจุภัณฑ์ 12 เปอร์เซ็นต์ภายใน 5 ปี ลดภาระรัฐในการจัดการขยะกว่า 2 หมื่นล้านบาท
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จับมือภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมผู้ประกอบการธุรกิจชั้นนำ 14 ราย และกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก 5 กลุ่ม จัดตั้ง "สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม" เพื่อแก้ไขสถานการณ์ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายการลดขยะบรรจุภัณฑ์ 12 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 5 ปี ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการดูแลกว่า 2 หมื่นล้านบาท ด้วยการพัฒนาระบบการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร พร้อมเสนอโครงการรณรงค์นำร่องเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน
นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า "ปัจจุบันขยะบรรจุภัณฑ์มีจำนวนร้อยละ 31 ของขยะทั้งหมดในประเทศไทย และเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อนซึ่งภาครัฐพยายามทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเหมาะสมที่สุด และพบว่าหากมีหน่วยงานที่เป็นเอกเทศ เพื่อประสานและเชื่อมโยงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและเป็นระบบจากทุกฝ่าย ทั้งจากภาครัฐ เอกชน เอ็นจีโอ นักวิชาการ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ การบริโภค การคัดแยกขยะ ตลอดจนการกำจัดจึงน่าจะเป็นการจัดการอย่างยั่งยืน และเป็นผลดีสำหรับทุกฝ่าย"
สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโครงการที่ริเริ่มจัดตั้งและอาศัยเงินสนับสนุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 5 กลุ่ม อันประกอบไปด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมแก้วและกระจก, กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก, กลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ, กลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม และสมาคมบรรจุภัณฑ์โลหะไทย และบริษัทชั้นนำของประเทศอีก 14 บริษัท คือ กลุ่มบริษัท?คคาโคล่า : บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด, บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย
เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท เตตร้า แพ็ค (ไทย) จำกัด, บริษัท กรีนสปอต (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน),บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด, บริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โอสถสภา จำกัด,บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริเวอรี่ จำกัด, บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด, บริษัท ทิปโก้ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด
แนวคิดการจัดตั้งสถาบัน ฯ เพื่อลดปริมาณบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วในกองขยะทั่วประเทศด้วยวิธีที่ปลอดภัยและเหมาะสม ไม่ก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์และขยะบรรจุภัณฑ์ ทางสถาบัน ฯ ได้เลือกใช้แผนการจัดการบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ที่เรียกว่า "การจัดการบรรจุภัณฑ์และขยะบรรจุภัณฑ์ครบวงจร" (Integrated Packaging Waste Management) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงและครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การบรรจุ การใช้ การทิ้ง การเก็บขน การคัดแยก การรีไซเคิล และการกำจัด โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงสุดทั้งในระดับประเทศชาติและภาคอุตสาหกรรม วิธีการดังกล่าวว ผู้ผลิตจะรับผิดชอบจัดการขยะบรรจุภัณฑ์โดยมีภาครัฐ เอกชน เอ็นจีโอ นักวิชาการและประชาชนร่วมประสาน เน้นการนำกลไกสังคมที่มีอยู่แล้ว เช่น ซาเล้ง, คนจนที่หารายได้จากการคัดแยกขยะอยู่แล้ว และโรงงานรีไซเคิล เข้าสู่ระบบการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างบูรณาการมากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แต่กลับช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งคุณภาพชีวิตและรายได้ของผู้ที่เกี่ยวข้องให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้สถาบันได้ศึกษาแบบอย่างวิธีการดำเนินงานของสถาบันในลักษณะเดียวกันที่ประเทศบราซิล ซึ่งดำเนินการมาแล้วประมาณ 13 ปี ประสบความสำเร็จอย่างดีในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ สามารถสร้างงานให้ประชากรได้กว่า 500,000 คน มีสหกรณ์ดำเนินการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างบูรณาการเกือบ 300 ชุมชน
นอกจากนี้สถาบัน ฯ จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการบรรจุภัณฑ์และขยะบรรจุภัณฑ์ให้มีศักยภาพมากขึ้น
การจัดทำโครงการนำร่องการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจรจะเริ่มขึ้นที่เขตบางขุนเทียน, จังหวัดนนทบุรี และชุมชนธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตก่อน ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างงานให้ชุมชนในท้องถิ่นด้วย และเป็นแบบอย่างขยายสู่พื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น และมีปัญหาการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างมาก เช่น ปทุมธานี, เชียงใหม่, ชลบุรี, พัทยา, ขอนแก่น, นครราชสีมา, สงขลา, หาดใหญ่ และภูเก็ต เป็นต้น
"เราได้ตั้งเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการดำเนินการไว้ทั้งหมด 4 เป้าหมาย โดยเป้าหมายแรกคือภายใน 5 ปีจะต้องสามารถลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ในประเทศได้ 12 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายการจัดการขยะของภาครัฐประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เป้าหมายที่ 2 เป็นศูนย์กลางข้อมูลของขยะบรรจุภัณฑ์และการรีไซเคิล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะบรรจุภัณฑ์มากยิ่งขึ้น เป้าหมายที่ 3 คือ เป็นหน่วยงานที่สามารถให้ข้อมูลและแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐเพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์การจัดการขยะมูลฝอยแห่งชาติและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับขยะบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับกลไกและเศรษฐกิจของประเทศ และเป้าหมายสุดท้ายคือส่งเสริมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร" นายประพัฒน์กล่าว
"เราเชื่อมั่นว่า ด้วยเจตนารมณ์ที่ดี และเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน มีการศึกษาแม่แบบระบบการทำงานที่ดีจากต่างประเทศ ตลอดจนการดำเนินงานในลักษณะประสานงานเป็นเครือข่ายตั้งแต่ผู้ประกอบการ ภาครัฐ องค์กรเอ็นจีโอต่าง ๆ สถาบันการศึกษา และประชาชน มีการทำงานในรูปแบบองค์กรอิสระ และให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญอย่างเต็มที่ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมย่อมประสบความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้แน่นอน" นายประพัฒน์กล่าว ทิ้งท้าย
แถลงข่าวในนาม : สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม
รายละเอียดเพิ่มเติม
อรุชา พรหมยานนท์ โทร. 02 345 1262
นิลรัตน์ ดีสมสุข (ninrat.deesomsuk@ogilvy.com)
รสวรรณ ชุณหบดี (rosawan.chunhabodee@ogilvy.com)
บริษัท โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์ จำกัด
โทร. 0 2205 6615--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ