กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำ Agri-Map แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก บูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านเกษตรจากทุกหน่วยงานในสังกัด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการเกษตรไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมปรับข้อมูลให้ทันสมัย และพัฒนาเพิ่มความสะดวกการใช้งาน
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง แนวคิดการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agricultural Map for Adaptive Management) หรือ Agri-Map สำหรับรวบรวมข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ของทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย พร้อมกับสามารถติดตามข้อมูลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง รอบด้าน ครอบคลุมการนำไปใช้ประโยชน์ทุกด้าน ที่สำคัญเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับข้อมูลด้านการเกษตร ซึ่งสามารถตอบโจทย์การช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรไทยในรายพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
สำหรับข้อมูลในการจัดทำ Agri-Map จะประกอบไปด้วยข้อมูลหลักด้านการเกษตร เช่น น้ำ ดิน พืช ประมง การตลาด โลจิสติกส์ และข้อมูลประกอบอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ขอบเขตการปกครอง การใช้ประโยชน์ที่ดิน ประชากร ทะเบียนเกษตรกร เป็นต้น และ Agri-Map ที่จะจัดทำขึ้นนี้ สามารถเพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ตลอดเวลา เนื่องจากในธรรมชาติจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา โดยในเบื้องต้นตั้งเป้าให้มีการปรับข้อมูลให้ท้นสมัย ที่เกิดขึ้นในทุกๆ ปี เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ในการบริหารจัดการด้านการเกษตรไทยได้อย่างต่อเนื่องในอนาคตได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการจัดทำAgri-Map ของกระทรวงเกษตรฯในครั้งนี้ ได้เริ่มต้นมาจากการบูรณาการทำงานร่วมกันของกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อจัดทำแผนที่สารสนเทศทางน้ำ (Information Waterway MapหรือIWM) และได้ขยายผลการดำเนินงานสู่แผนที่เพื่อการเกษตรเชิงรุก ที่มีการบูรณาการข้อมูลในเชิงภูมิศาสตร์ของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นมีนาคม 2559
นอกจากนี้ในอนาคตการใช้งาน Agri-Map มีแนวคิดที่จะพัฒนาไปสู่การสร้าง แอพพลิเคชั่น และแผนที่บนเว็บไซต์ จึงนับเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยให้ข้อมูลด้านการเกษตรสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และน่าจะได้รับการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ อันจะเป็นการเสริมสร้างการบริหารจัดการด้านการเกษตรของไทย ให้มีความยั่งยืน สมดุลทั้งทรัพยากรน้ำ ดิน ผลผลิตทางการเกษตรในอนาคตต่อไป