กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเผยผลการเดินทางไปชักจูงการลงทุนที่ กรุงโตเกียว เมืองนาโกย่า และโทยาม่า ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกลอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นมีความพร้อมที่จะลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งมีแผนจะตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยด้วย ขณะที่การหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดโทยาม่าพบว่า มีนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยาและเครื่องจักรจากโทยาม่ามีแผนจะเข้ามาลงทุนในไทย พร้อมเตรียมจัดกิจกรรมโรดโชว์ชักจูงการลงทุนในอีก 4 ประเทศเป้าหมาย รัสเซีย เยอรมนี อินเดีย และจีน
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยถึงผลการเดินทางไปชักจูงการลงทุน ณ กรุงโตเกียว เมืองนาโกย่า และจังหวัดโทยาม่า ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19 – 23 เมษายน 2559 ว่า การเดินทางมาโรดโชว์ในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่เน้นเข้าถึงกลุ่มบริษัทเป้าหมายที่ต้องการชักชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งบีโอไอได้ประชุมร่วมกับสมาคมผู้ผลิตหุ่นยนต์ของญี่ปุ่น (Japan Robot Association) โดยมีนักลงทุนในเข้าร่วมประชุม 16 บริษัท และได้รับฟังนโยบายส่งเสริมการลงทุนคลัสเตอร์ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตของประเทศไทย
ทั้งนี้ บีโอไอยังได้พบปะหารือกับบริษัทชั้นนำอีก 6 บริษัทในกลุ่มผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งพบว่าทุกบริษัทมีความพร้อมที่จะลงทุนหรือขยายการลงทุนในประเทศไทยทั้งการผลิตและการตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามชาติ (International Headquarters:IHQ)
สำหรับการพบปะหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดโทยาม่า ทำให้ทราบว่า นักลงทุนในจังหวัดโทยาม่ามีการลงทุนในประเทศไทยทั้งสิ้น 62 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจังหวัดโทยาม่ามีความโดดเด่นทั้งอุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมเครื่องจักร และผู้ว่าราชการจังหวัดโทยาม่าคาดว่าจะมีนักลงทุนจากโทยาม่าไปลงทุนในประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ บีโอไอยังได้เดินทางไปศึกษาเรื่องการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่นของญี่ปุ่น ที่พิพิธภัณฑ์ปลาหมึกเรืองแสง (Hotaruika Museum) ของเมืองโทยาม่า ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนขนาดเล็กที่นำจุดเด่นของเมืองมาจัดแสดง รวมทั้งมีการจำหน่ายสินค้าเด่นๆ ที่สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมการลงทุนระดับท้องถิ่นของไทย ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่นต่อไป
สำหรับในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน 2559 บีโอไอมีแผนจะจัดกิจกรรมเดินสายชักจูงการลงทุนในประเทศเป้าหมายอีก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศรัสเซีย เยอรมนี อินเดีย และจีน โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะชักชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย คือ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และการสื่อสาร ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ชีววิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ ไบโอเทคโนโลยี และนาโนเทคโนโลยี สำนักงานใหญ่ข้ามชาติ (IHQ) และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) เคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เครื่องมือแพทย์ และยา