(ต่อ 3) บัวนา วิสต้า อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิใจเสนอภาพยนตร์แอนิเมชั่นคลาสสิคตลอดกาลของวอลท์ ดิสนีย์พิค "Beauty and the Beast "

ข่าวทั่วไป Friday December 7, 2001 14:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--บัวนา วิสต้า อินเตอร์เนชั่นแนล
ต้นกำเนิด
ต้นกำเนิดที่แท้จริงของ Beauty and the Beast ฉบับแอนิเมชั่นขนาดยาว ย้อนหลังได้ไกล 5 ทศวรรษไปยังยุคแรกเริ่มของดิสนีย์สตูดิโอส์ ช่วงที่วอลท์กับลูกทีมฝ่ายคิดเรื่องกำลังคิดสร้างหนังเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง แต่โครงการดังกล่าวก็จำต้องถูกระงับไว้ก่อนเมื่อไม่สามารถหาวิธีที่น่าพอใจสำหรับการถ่ายทอดครึ่งหลังของหนังที่มีแต่ฉากคับแคบเนื่องจากเบลล์ถูกขังไว้ในปราสาทของอสูรได้
กลางปี 1989 หลังจากงานใน The Little Mermaid เริ่มซาลง ผู้อำนวยการสร้าง ดอน ฮาห์น พาทีมศิลปินและแอนิเมเตอร์ (เกลน คีน กับ แอนเดรียส์ เดจา) เดินทางไปนิวยอร์คเพื่อใช้เวลา 10 สัปดาห์ในการลงมือพัฒนาและเตรียมงานสร้าง Beauty and the Beast โดยเริ่มตั้งแต่คิดเรื่อง ทดลองออกแบบตัวละคร พร้อมๆกับซึมซับกลิ่นอายและบรรยากาศของฉากหลังแบบยุโรปด้วย ทั้งสามเดินทางไปยังหุบเขาลัวร์ในฝรั่งเศสและชนบทงดงามหลายแห่งเพื่อสเก็ตช์และถ่ายวิดีโอเก็บไว้ใช้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับงานกำกับศิลป์และกำหนดภาพรวมของหนัง
ฮาห์นกล่าวว่า "เรื่องราวนี้นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับการเล่า ในเทพนิยายต้นฉบับนั้น พ่อของเบลล์เข้าไปในปราสาทและเด็ดดอกกุหลาบดอกหนึ่งซึ่งทำให้อสูรโกรธแค้นมาก จึงจับตัวเขาโยนเข้าคุก แต่จะยอมปล่อยหากเขาส่งลูกสาวมาแทนที่ เธอทำตามความต้องการของพ่ออย่างเต็มใจและเรื่องราวหลังจากนั้นก็ว่าด้วยคนสองคนที่มีดินเนอร์กันทุกคืน โดยที่อสูรเพียรขอเธอแต่งงานครั้งแล้วครั้งเล่า
"เรารู้สึกว่าเราจะต้องเติมพลังให้แก่เรื่องที่ว่านี้อีกด้วยการสร้างฉากดราม่าเพิ่มเข้าไปและเปลี่ยนให้นางเอกของเราเป็นฝ่ายเดินเข้าสู่ปราสาทอย่างกล้าหาญด้วยตัวเองเพื่อต่อสู้ให้พ่อได้รับอิสระ ขณะที่ โฮเวิร์ด แอชแมน เป็นคนออกไอเดียให้เราเปลี่ยนข้าวของต่างๆในปราสาทให้มีชีวิตขึ้นมาและมีบุคลิกเป็นของตัวเองซึ่งตรงนี้แหละเป็นจุดสำคัญมาก เขายังเป็นพลังสำคัญในการทำให้บทมีความเป็นหนังเพลงมากขึ้นด้วย"
การประชุมที่ลอนดอนส่งผลให้เกิดหนังดราม่าจริงจังที่ประณีตบรรจงโดยไม่มีเพลงและมีอารมณ์ขันแทรกเพียงประปราย จากนั้นผู้กำกับ เคิร์ค ไวส์ กับ แกรี่ ทรูสเดล ก็เข้ามาเพิ่มสีสันให้กับโครงการ จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 1989 ทุกฝ่ายก็ตัดสินใจเปลี่ยนหนังเรื่องนี้ให้กลายเป็นหนังเพลง โดย ลินดา วูลเวอร์ตัน ผู้เขียนบท ได้รับมอบหมายให้ออกเดินทางไปยังโคลด์สปริง ในนิวยอร์คอันเป็นบ้านของ โฮเวิร์ด แอชแมน ผู้ประพันธ์เนื้อเพลงและผู้อำนวยการสร้างของ Little Mermaid เพื่อทำงานร่วมกับเขาเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนในการใส่เพลงเข้าไปในบทร่างใหม่และโครงสร้างใหม่หมด แอชแมนจึงเป็นพลังสร้างสรรค์ที่สำคัญยิ่งของหนังและยังเป็นผู้ผลักดันบุคลิกของตัวละครเครื่องใช้ในปราสาทจนโดดเด่นด้วย
ความแตกต่างหลักๆอีกประการหนึ่งระหว่าง Beauty ฉบับดิสนีย์และเวอร์ชั่นก่อนๆก็คือ บทบาทของอสูร "เวอร์ชั่นของเราเป็นเรื่องราวของอสูร" ฮาห์นตั้งข้อสังเกต "ไม่ใช่เรื่องของเด็กสาวผู้หลงรักชายหนุ่มและจำต้องเสียสละบางสิ่งเพื่อให้ฝันเป็นจริงเหมือนแอเรียลใน The Little Mermaid แต่เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่ประสบกับปัญหาหนักและจำต้องไถ่ถอนตัวเองให้ได้ผ่านเหตุการณ์มากมาย เขามีเวลาจำกัดและต้องหาใครสักคนที่รักเขาก่อนที่จะสายเกินไป โดยในเวอร์ชั่นของเรานี้ ดอกกุหลาบทำหน้าที่แทนนาฬิกา"
ความโดดเด่นอีกส่วนหนึ่งของเวอร์ชั่นนี้ ก็คือ การไม่มีตัวร้ายประเภทร้ายอย่างชัดเจน ซึ่ง เกลน คีน กล่าวว่า "ในหนังส่วนใหญ่ของเรา พระเอกจะมีอุปสรรคภายนอกที่ต้องต่อสู้ เช่น แม่มด, มังกร หรือคนชั่ว แต่ในหนังเรื่องนี้ แม้แกสต็องจะร้ายกาจ แต่ศัตรูที่แท้จริงของอสูรคือตัวเขาเอง และการต่อสู้ที่แท้จริงของเขาก็คือการรับมือกับปัญหาภายในของตน ซึ่งนี่แหละที่ทำให้ตัวละครน่าสนใจขึ้นมาก"
งานกำกับศิลป์
ในการสร้างภาพรวมแก่ Beauty and the Beast ทีมงานต้องการสไตล์สีสันอิ่มเอิบสดใสซึ่งให้ทั้งบรรยากาศของฉากหลังแบบยุโรปและคล้ายกับหนังคลาสสิคของดิสนีย์หลายๆเรื่อง ไบรอัน แม็คเอนที ผู้กำกับศิลป์ ทำการศึกษางานของจิตรกรฝรั่งเศสยุคโรแมนติคอย่าง ฟราโกนารด์ และ บูเกอร์ เพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจ กับยังวิเคราะห์ความเรียบง่ายอันงดงามในหนังคลาสสิคของดิสนีย์อย่าง Bambi และพยายามผสมผสานสไตล์ที่เต็มไปด้วยความสมจริงของหนังเรื่องดังกล่าวด้วย แม็คเอนทีทำงานร่วมกับผู้กำกับทั้งสองและ ลิซ่า คีน ในการพัฒนาทฤษฎีสีขึ้นใหม่ที่จะใช้กับหนังทั้งเรื่อง
"สีมีบทบาทสำคัญมากในการเล่าเรื่องราวนี้" แม็คเอนทีอธิบาย "ตั้งแต่ฉากแรกๆ เราใช้สีเข้าช่วยแยกตัวเบลล์ออกจากส่วนอื่นๆของหมู่บ้านโดยให้เธอเป็นคนเดียวที่ใส่ชุดสีฟ้า ซึ่งนั่นช่วยเน้นไอเดียที่ว่า เธอไม่สามารถเข้ากับคนอื่นๆได้จริงๆ"
ฮาห์นเสริมว่า "เราพยายามเล่าเรื่องด้วยสีและรูปร่างให้มากที่สุด ฤดูกาลกลายมาเป็นสัญลักษณ์เปรียบเปรยในเรื่องของเราและมันเปลี่ยนแปลงไปตลอดตามอารมณ์และแอ๊คชั่นของหนัง เราเริ่มจากกลุ่มสีเดือนตุลาคมอย่างเช่น สีของผลฟักทองและใบไม้ร่วง เมื่อมอริซหลงป่า เราก็เพิ่มความน่าสะพรึงกลัวให้กับบรรยากาศจนดูเยียบเย็น ครั้นถึงตอนที่เบลล์เดินทางไปปราสาท อากาศหนาวของฤดูหนาวก็เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น จากนั้นหิมะแรกของฤดูตกลงมาเมื่อเบลล์พยายามหนี แต่พอเธอกับอสูรเริ่มใกล้ชิดและหลงรักกัน หิมะก็ละลายพร้อมๆกับการผลิบานของต้นไม้ แกสต็องนำชาวบ้านบุกปราสาทของอสูรในช่วงเกิดพายุฟ้าผ่า แล้วพอตอนจบเมื่อคำสาปหมดฤทธิ์และเบลล์กับเจ้าชายได้อยู่ด้วยกันแล้ว ฤดูใบไม้ผลิก็เข้าสู่ช่วงเบ่งบานเต็มที่จนภาพเต็มไปด้วยสีสันสดใส กลุ่มสีถูกใช้เพื่อสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลทั้งหมดนี้และยังเพิ่มผลในเชิงดราม่าแก่เรื่องราวด้วย"
สำหรับ ลิซ่า คีน และทีมศิลปิน 14 ชีวิตที่ดูแลงานแบ๊คกราวด์กว่า 1,300 ภาพแล้ว Beauty and the Beast นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง "เหตุการณ์ส่วนใหญ่ในหนังเกิดขึ้นตอนกลางคืนหรือไม่ก็ในปราสาท" คีนกล่าว "ดังนั้น เพื่อจะหลีกเลี่ยงความมืดทึมตลอดจนบรรยากาศชวนหดหู่ เราจึงต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์กันสุดๆและก็ได้ผลที่น่าสนุกมาก อย่างเช่นในฉากเพลง 'Be Our Guest' ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการทำแบ๊คกราวด์สดใสรื่นเริงและอึกทึกครึมโครมแบบงานเลี้ยงใหญ่ ส่วนเมื่อต้องสร้างอารมณ์ที่เหมาะสำหรับฉากเต้นรำสุดโรแมนติคนั้น เราเลือกใช้แบ๊คกราวด์สีทองอ่อนๆร่วมกับสีน้ำเงินเจิดจ้าภายนอก"
อีกส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมความวิจิตรให้แก่ Beauty and the Beast ก็คือ ระบบ CAPS ซึ่งเปิดโอกาสให้ศิลปินสามารถใช้กลุ่มสีได้อย่างไม่จำกัด ตัวละครหลักหลายตัวในหนังเรื่องนี้มีสีมากถึง 17 สีและสีหมึกตัดเส้นเอาต์ไลน์ถึง 7 สีไม่ซ้ำกัน โดย เกรตเชน อัลเบรคต์ ผู้จัดการฝ่าย Ink and Paint อธิบายว่า "การให้รายละเอียดเหลือเชื่อเช่นนี้ไม่เคยมีให้เราได้เห็นในหนังแอนิเมชั่นเรื่องไหนๆเลยนับตั้งแต่ยุคทองของแอนิเมชั่นเป็นต้นมา เราสามารถทำได้กระทั่งเอฟเฟ็กต์แก้มแดงระเรื่อของเบลล์และมิสซิสพ็อตต์สด้วยการใช้เทคนิคผสมสีอันซับซ้อนซึ่งถูกคิดค้นบุกเบิกขึ้นสำหรับหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ"
สร้างอสูร
การสร้างตัวละครใน Beauty and the Beast เป็นกระบวนการที่ต้องทุ่มเทความคิดและเวลา รวมถึงการร่วมแรงร่วมใจของบุคคลมากมาย อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนสุดท้ายถือเป็นหน้าที่ของแอนิเมเตอร์ผู้ควบคุมและลูกทีมของเขาในการสร้างชีวิตให้แก่ตัวละครเหล่านั้นอย่างน่าเชื่อถือ มีบุคลิกโดดเด่น และสามารถสร้างความบันเทิงได้เต็มที่บนจอ
เกลน คีน เป็นแอนิเมเตอร์ผู้รับหน้าที่ออกแบบและวาดตัวอสูร กับยังต้องดูแลแคแร็คเตอร์แอนิเมเตอร์อีก 6 คนที่ทำงานให้เขาด้วย มือเก๋าที่ทำงานกับดิสนีย์มานานถึง 27 ปีคนนี้เคยมีผลงานอย่างฉากต่อสู้กับหมีใน The Fox and the Hound, ตัวละครศาสตราจารย์เรติแกน ใน The Great Mouse Detective, แอเรียล ใน The Little Mermaid, นกอินทรีมาราฮูต ใน The Rescuers Down Under และรับผิดชอบตัวละครนำของทั้ง Aladdin, Pocahontas, Tarzan กับยังดูแลตัว จอห์น ซิลเวอร์ ในแอนิเมชั่นปี 2002 ของดิสนีย์เรื่อง Treasure Planet ด้วย
"อสูรเป็นตัวละครแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน" คีนอธิบาย "เราจึงไม่สามารถอ้างอิงกับของเดิมใดๆได้ทั้งสิ้น ผมเริ่มสร้างตัวอสูรขึ้นโดยคิดว่าตัวตนภายในที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไร เขาเป็นชายที่ติดอยู่ระหว่างสองโลก ครึ่งหนึ่งเป็นสัตว์และอีกครึ่งเป็นมนุษย์โดยที่เขาไม่อาจมีความสุขเลยไม่ว่ากับโลกไหน งานออกแบบตัวเขาจึงจำเป็นต้องแสดงด้านที่เป็นมนุษย์ออกมา คือทั้งหัวใจ, ความอบอุ่น และความสามารถที่จะรัก ส่วนด้านที่เป็นสัตว์ดุร้ายอัปลักษณ์นั้นจะต้องสะท้อนอำนาจและความปราดเปรียว ผมบรรจุสิ่งเหล่านี้ไว้ในความคิดจนเต็มแล้วก็เริ่มขั้นตอนการออกแบบร่างสุดท้าย บวกกับการไปสวนสัตว์อีกหลายครั้ง, ศึกษาจากวิดีโอ National Geographic และวิเคราะห์สัตว์สตัฟฟ์เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม"
ในที่สุด คีนก็สร้างอสูรของเขาขึ้นให้เป็นส่วนผสมของแผงคอสิงโต, หนวดเคราและโครงสร้างส่วนหัวของควาย, เขี้ยวและสันจมูกของหมูป่า, โหนกคิ้วเป็นสันหนาของกอริลล่า, ขากับหางของหมาป่า และลำตัวใหญ่เทอะทะของหมี โดยนอกเหนือจากทั้งหมดนี้แล้ว เขายังได้เพิ่มเติมส่วนผสมที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ความจริงใจ
"ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ" คีนกล่าว "เมื่อเบลล์มองลึกเข้าไปในดวงตาของอสูร เธอจะต้องเห็นถึงหัวใจและวิญญาณของมนุษย์ เธอจะต้องเห็นความจริงใจและเชื่อว่าเธอสามารถรักสัตว์ประหลาดตนนี้ได้จริง นี่คือสิ่งที่งานแอนิเมชั่นของเราต้องถ่ายทอดออกมาให้ได้"
อีกสิ่งหนึ่งที่คีนมุ่งมั่นเต็มที่สำหรับงานชิ้นนี้ของเขาก็คือ การสร้างความสมจริง ซึ่งรวมไปถึงลักษณะของสัตว์ด้วย "ตัวละครตัวนี้จะต้องสมจริงน่าเชื่อในสายตาของคุณ" เขากล่าว "ฉากที่เบลล์ไม่ยอมลงมาร่วมโต๊ะอาหารและอสูรโกรธจนขาดสตินั้น บทหนังเขียนไว้ว่าเขาต้องวิ่งขึ้นบันไดอย่างบ้าคลั่ง แต่สัตว์ที่บ้าคลั่งนั้นย่อมทำท่ากระโจนด้วยทั้งสี่ขาขึ้นบันไดรวดเดียวไปสู่ชานพักเหมือนเหินกลางอากาศมากกว่า เราจึงตัดสินใจให้ตัวละครของเราทำแบบนั้น"
ยิ่งคีนรู้จักตัวละครของเขามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสามารถวิเคราะห์บุคลิกที่ซับซ้อนได้ดีขึ้นเท่านั้น "ในความคิดของผม อสูรมี 3 บุคลิกหลักที่แตกต่างกัน หนึ่งคืออสูรที่ดุร้ายเหมือนสัตว์จริงๆเมื่อต้องต่อสู้กับฝูงหมาป่าและเคลื่อนไหวด้วยเท้าทั้งสี่ สองคืออสูรตลกๆ ที่มักจะผิดหวังในตัวเองและต้องพยายามควบคุมอารมณ์ของตน ซึ่งสำหรับบุคลิกนี้ผมนึกถึง แจ็คกี้ กลีสัน และวาดตามเขาโดยให้ตากว้างกว่าเล็กน้อย สามคืออสูรผู้จริงใจที่เปิดเผยถึงความรู้สึกลึกๆของตัวเอง คล้ายคลึงกับตัวละครนำใน Elephant Man ซึ่งบุคลิกนี้ต้องวาดอย่างละเอียดอ่อนไหวเป็นพิเศษ"
คีนยกเครดิตให้กับ ร็อบบี้ เบนสัน ว่า เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจสำหรับตัวละครอสูรได้อย่างดีเยี่ยมผ่านการตีความและพากย์ของเขา "เขาเป็นนักแสดงที่ดีที่สุดที่ผมเคยฟังเสียงพากย์มาและการแสดงของเขาก็ช่วยเราในด้านอารมณ์ของตัวละครได้ดีจริงๆ" คีนกล่าว" เสียงของเขาทั้งมีพลัง, ลุ่มลึก และสุขุม ซ้ำยังฟังเหมือนมีเด็กหนุ่มอายุสัก 20 ปีซุกซ่อนอยู่ภายในที่เบลล์สามารถจะตกหลุมรักได้ด้วย"
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ