กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ B(tha) และแนวโน้มมีเสถียรภาพ แก่หุ้นกู้มีหลักประกันบางส่วนชนิดทยอยคืนเงินต้นของบริษัทห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) ("โรบินสัน") ครบกำหนดไถ่ถอน ธันวาคม พ.ศ. 2548 มูลค่า 3.6 พันล้านบาท หรือประมาณ 81 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับเครดิตของหุ้นกู้มีประกันชนิดทยอยคืนเงินต้นของบริษัทห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) สะท้อนถึงประมาณการสถานะการเงินของโรบินสันหลังการปรับโครงสร้างหนี้และแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ หุ้นกู้ที่ออกในครั้งนี้จะถูกเสนอขายให้กับเจ้าหนี้เฉพาะกลุ่มของโรบินสัน ซึ่งการออกหุ้นกู้นี้เป็นขั้นตอนที่สองในสิบขั้นตอนของแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการของโรบินสันได้รวมถึงการได้รับยกเว้นหนี้ในจำนวนที่สูง หลังจากการดำเนินการครบถ้วนตามแผนแล้ว ภาระหนี้สินของโรบินสันทั้งหมดจะลดลงเหลือประมาณ 3.7 พันล้านบาท และความสามารถในการชำระหนี้ของโรบินสันจะเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อน ดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (Total Debt/EBITDA) คาดว่าจะลดลงอยู่ในระดับ 4.6 เท่า หุ้นกู้นี้สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้เมื่อมีการผิดนัด ในส่วนของหลักทรัพย์ที่จะนำมาเป็นหลักประกันให้กับหุ้นกู้นี้ ยังไม่สามารถสรุปมูลค่าได้ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าหลักประกันจะมีมูลค่าไม่สูงพอที่จะเป็นสาระสำคัญ
ถึงแม้ว่าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการจะช่วยลดภาระหนี้สินของโรบินสันลงอย่างมาก และช่วยให้ผู้บริหารสามารถหันมาทุ่มเทกับการพัฒนากิจการได้อย่างเต็มที่ แรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจค้าปลีกประกอบกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อาจเป็นตัวฉุดรั้งผลการดำเนินงานของโรบินสันในอนาคต อันดับเครดิตของหุ้นกู้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่เกิดจากการที่โรบินสันได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจ การปรับตัวสินค้าและรูปแบบของห้างใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการติดตามประเมินผล อย่างไรก็ตามความพยายามของโรบินสันที่จะเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของโรบินสันได้ในระดับหนึ่ง การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการแม้จะเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของโรบินสันให้ดีขึ้น โรบินสันยังคงมีความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อรองรับการชำระคืนหุ้นกู้ส่วนใหญ่ ซึ่งมีกำหนดชำระในปี พ.ศ. 2548 ในขณะนี้ โรบินสันยังไม่มีแผนที่แน่ชัดในการจัดหาแหล่งเงินกู้ใหม่
โรบินสันเป็นหนึ่งในห้างสรรพสินค้าที่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย และอยู่ในกลุ่มบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าในประเทศไทย บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีตระกูลจิราธิวัฒน์ เป็นผู้ถือหุ้นหลักจำนวน 82.5% ค่าเงินบาทลอยตัวในปี พ.ศ. 2540 ประกอบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจส่งผลให้โรบินสันประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง เนื่องจากมีเงินกู้ต่างประเทศจำนวนมากและไม่ได้มีการป้องกันความเสี่ยงไว้รวมถึงสภาวะตลาดที่ถดถอย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้โรบินสันประกาศพักชำระหนี้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2541 ทางบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ส่งผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาช่วยโรบินสันในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูกิจการ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2543 แผนฟื้นฟูกิจการของโรบินสันได้รับการอนุมัติโดยเจ้าหนี้ส่วนใหญ่และศาลล้มละลายกลาง ทางด้านการดำเนินงาน โรบินสันอยู่ในช่วงการปรับตัวสินค้าและรูปแบบของห้างใหม่เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ในครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2544 โรบินสันและบริษัทย่อย มียอดขายสุทธิ3.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1% จากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าส่วนต่างกำไรขั้นต้นจะลดลง โรบินสันและบริษัทย่อย มี EBITDA ที่ 441 ล้านบาทในครึ่งปีแรก เพิ่มขึ้น 42.3% เนื่องมาจากยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นและ ค่าใช้จ่ายในการขายและการดำเนินงานที่ลดลง กำไรขั้นต้นต่อตารางเมตรเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้น 13.7% โรบินสันและบริษัทย่อยมีสัดส่วนหนี้สินต่อ EBITDA ในช่วง 12เดือนที่ผ่านมา (Total Debt/LTM EBITDA) สูงถึง 27.9 เท่า ในขณะที่ EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่าย และ Fixed Charge Cover อยู่ในระดับต่ำที่ 1.0 เท่า และ 0.6 เท่า ตามลำดับ
สามารถขอรับรายงานฉบับสมบูรณ์ ที่ www.fitchratings.com หรือ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ติดต่อ
Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ + 662 655 4759
อรวรรณ การุณกรสกุล, CFA, กรรมการ, Corporates + 662 655 4760
ภิมลภา สิมะโรจน์, ผู้ช่วยกรรมการ, Corporates + 662 655 4761
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 'AAA' ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย--จบ--
-อน-