กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
แนวคิดการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างแดนของคุณอนันต์ นักลงทุนอื่นขืนทำตามก็คงไม่แคล้ว "ประสบเภทภัยมากกว่าวาสนา" ลองมาดูกันครับ
ผมกับคุณอนันต์ก็รู้จักกันมา 25 ปีแล้ว ล่าสุดเจอกัน ผมยังคุยให้ท่านฟังว่าผมไปสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในอาเซียนมาหลายประเทศอย่างต่อเนื่อง ท่านบอกอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาเลยว่า "ผมไปมาหมดแล้ว เจ๊งกลับมาหมดแล้ว" ท่านเป็นคนโอ่อ่าเปิดเผยจริงๆ ครับ ผมจำได้ว่าท่านไป "เจ๊ง" ทั้งที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย และท่านยังไปลงทุนในจีนเช่นเดียวกับหลายบริษัทในยุคนั้นอีกด้วย
แต่พวกเราแปลกใจไหม บริษัทพันธมิตรของท่านก็ยังอยู่ในวันนี้ คุณอนันต์เจ๊งกลับมาเอง อันนี้ท่านสรุปไว้ว่า "อย่างในต่างประเทศที่เราไปลงทุนก็เป็นธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเราไม่มีประสบการณ์ บทเรียนที่ได้คือ ถ้าไม่รู้จริงอย่าไปทำกฎหมายไม่ชัดเจนอย่าไปทำ" อันนี้อาจจะไม่ใช่ เพราะธุรกิจที่ท่านไปทำก็คือธุรกิจบ้านและที่ดินที่ถนัดในไทยอยู่แล้วนั่นแหละครับ
ที่ท่านและนักธุรกิจไทยอีกหลายท่านเจ๊งกลับมา ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการหาพันธมิตร จะแต่งงานก็คงต้องเลือกหาคู่ให้ดีที่สุด จะได้อยู่กันยืด โดยที่ผมไปสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศบ่อย ๆ ไปทำงานให้ธนาคารโลกในอินโดนีเซีย ทำงานให้องค์การสหประชาชาติในเวียดนามและเป็นที่ปรึกษาในกระทรวงการคลังกัมพูชาและอีกหลายประเทศ ผมพบความจริงอย่างหนึ่งว่า เราต้องเข้าหาสมาคมที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ ไปร่วมประชุมรายเดือน รายไตรมาส คลุกคลีตีโมงเพื่อคัดเลือกหาคู่ หาพันธมิตร กระทั่ง Shopping หาผู้บริหารมือดีมาร่วมงานด้วย
นอกจากนี้ เหตุผลที่นักพัฒนาที่ดินไทย "เจ๊ง" กลับมาก็คือ การไปทำโครงการแบบใหญ่ ๆ เลย เราควรไปแบบเล็ก ๆ ก่อน ถึงจะ "เจ๊ง" แต่ "ขนหน้าแข้งก็ไม่ร่วง" ค่อย ๆ ทำไปศึกษาไป แล้วจะเติบใหญ่ คบและพัฒนาโครงการกับนักพัฒนาที่ดินรายย่อยไปก่อน แทนที่จะมุ่งไปที่บริษัทมหาชนแบบเดียวกันในต่างแดน นอกจากนั้น เราควรศึกษาตลาดให้ดีด้วยตัวเราเอง
ข้อนี้สำคัญมาก แม้แต่นักพัฒนาที่ดินฮ่องกงก็ยัง "เจ๊ง" ในประเทศจีนมากมาย เหตุผลสำคัญก็คือ พวกนี้พกความมั่นใจจากฮ่องกงไปเต็มเปี่ยม ขาดการศึกษาตลาดเท่าที่ควร ผลการประกอบการจึงสู้บริษัทท้องถิ่นที่กุมสภาพตลาดไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น "ตำรา" ฮ่องกงที่มักจะลงทุนในทำเลสุดยอด (Prime Location) ก็ใช้ไม่ได้ในจีน เพราะในประเทศจีน เขาสามารถสร้างทำเลสุดยอดได้ตลอด สร้างเมืองใหม่ได้เลย ทำเลสุดยอดไม่ได้ยืนยงชั่วกัลปาวสานเช่นฮ่องกงซึ่งเป็นเกาะกระจิดริด เป็นต้น
คุณอนันต์ยังบอกว่า "ในโลกนี้ไม่มีธุรกิจใหม่ มีแค่วิธีคิดใหม่" นี่เป็นคำพูดที่สร้างแรงบันดาลใจได้ดีมาก น่าฟังเป็นอย่างยิ่ง แต่สำหรับเราๆ ท่านๆ ที่คิดจะทำธุรกิจนั้น คงจะคิดแบบนั้นไม่ได้ เราต้อง "เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" เช่นเราจะสร้างบ้านจัดสรรหรือห้องชุด เราก็ต้องศึกษาให้ดีว่าสินค้าประเภทไหน ทำแล้วขายดี มีคนใช้สอยมาก และเป็นผู้ซื้อใช้จริง (End Users) เราก็ทำตามนั้น ไม่จำเป็นต้องไปแหวกแนว เว้นแต่ว่า "ขนหน้าแข้งไม่ร่วง" ช่องทางตลาดใหม่ ๆ (Market Niche) มีไว้สำหรับผู้นำและนักเสี่ยงโชคที่พร้อม "เจ๊ง" โดยไม่สะเทือนเป็นสำคัญ
ตัวอย่างที่น่าสนใจก็เช่น ไปทำนอร์ธพาร์ค ที่กะว่าจะให้กลุ่มทุนใหญ่ๆ มาร่วมกันสร้างอาคารสำนักงานบนแปลงที่ดินจัดสรรรอบๆ สนามกอล์ฟที่ดีที่สุดในประเทศไทย แต่ก็เจ๊งไม่เป็นท่า เพราะในความเป็นจริง เราไม่ทราบว่าอาคารสำนักงานนั้นต้องอยู่ใจกลางเมือง จะไปอยู่ไกลโพ้นแบบนั้นเมื่อ 20 ปีก่อน คงเป็นไปไม่ได้ เป็นต้น เราจึงต้องทำวิจัยเพื่อรู้ "หั่งเช้ง" ในตลาดก่อน ข้อนี้ทำให้คุณอนันต์ประสบความสำเร็จจากผลการสำรวจวิจัยที่พบว่า ไม่จำเป็นต้องมีห้างในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 แต่ทำเป็นแบบพลาซาให้รายย่อยมาขายขางมากกว่านั่นเอง
อย่างไรก็ตามสิ่งที่คุณอนันต์คิดถูกแล้วก็คือการไม่หวังผูกขาดตัดตอนรวยคนเดียว ไม่ใช่ว่าเป็นนักพัฒนาที่ดินแล้วหวังจะกินรวบทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเองด้วย หรือทำโรงแรมก็ไม่ใช่ว่าจะรับเหมาทำเองทุกอย่าง ต้องแบ่งๆ กันไป และจะยั่งยืนจริงก็ต้องดูแล Suppliers อย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ไปขูดรีด ทรยศหักหลัง ขโมยความคิดคนอื่นไปทำให้ตนร่ำรวยแบบนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่หลายรายในประเทศไทย พวกนี้ทำธุรกิจรวยล้นฟ้าแล้วเสแสร้างบริจาคมหาศาล ก็ไม่มีใครนับถือจริง เพราะเป็น "ของปลอม"!
ในด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างที่รวดเร็วทันใจอย่างที่พฤกษาทำหรือที่แลนด์แอนด์เฮาส์และเจ้าอื่นทำนั้น ผมพาคณะผู้สนใจไปดูงานถึงโรงงานต้นแบบที่เยอรมนีและญี่ปุ่นมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้น โรงงานที่ผลิตที่อยู่อาศัยได้อย่างสุดรวดเร็วและยิ่งใหญ่ๆ จริงๆ อาจอยู่ที่ประเทศจีน เทคโนโลยีการก่อสร้างของบริษัทพัฒนาที่ดินในอาฟริกาใต้ ก็รวดเร็วทันใจกว่าของไทยเสียอีก นี่คือสิ่งที่เราควรไป "เปิดหูเปิดตา" จะจับเจ่าคิดว่านั่งนับเงินอยู่แต่ในประเทศไทยก็คงไม่ได้แล้ว
คุณอนันต์คุยว่าล่าสุดไปซื้ออาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อปรับเป็นอะพาร์ทเมนต์ ท่านใช้วิธีระดมสมองในเรื่องเหล่านี้ผ่าน "VDO call" ใช้ระยะเวลา 3 ชั่วโมงแล้วเสร็จ ไม่ต้องบินไปไกลถึงสหรัฐฯ ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจ (Overhead cost) ต่ำมากด้วย ข้อนี้ท่านพึงอธิบายเพิ่มเติมสักนิดว่าในสหรัฐอเมริกา เอาอาคารสำนักงานไปเป็นอะพาร์ทเมนต์ได้อย่างไร ที่ผ่านมาคนทำธุรกิจใหญ่ๆ จะมี "อัตตา" สูง ไปลงทุนทีละเป็นหมื่นๆ ล้าน พอเจ๊งก็ซวดเซกลับมา และ "อัตตา" นี่แหละที่ฆ่าพวกนักธุรกิจใหญ่ๆ เอง เพราะทำให้เรา "เชิดหน้า" ไม่ศึกษาให้ดีก่อนการลงทุนนับหมื่นๆ ล้าน กลายเป็นการสะดุดขาตัวเองหกล้มนั่นเอง
การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำไมคุณอนันต์ อัศวโภคิน จึงกลายเป็นเบอร์ 1 แทนคุณอนันต์ กาญจนพาสน์ เหตุผลก็คือแลนด์แอนด์เฮาส์ทำธุรกิจแบบกระจายความเสี่ยง ทำหลายทำเล ทำโครงการเล็กๆ กว่าเมื่อเทียบกับเมืองทองธานี แล้วทำไมคุณทองมา จึงชิงเบอร์ 1 ไปจากคุณอนันต์ได้ เหตุผลสำคัญก็คือนอกจากพฤกษาจะทำหลายทำเลเช่นเดียวกับแลนด์แอนด์เฮาส์แล้ว ยังทำหลายระดับราคา ไม่ได้เจาะจงเฉพาะบ้านแพง เป็นต้น (ภายหลังแลนด์แอนด์เฮาส์ ก็เริ่มทำบ้านราคาปานกลางบ้างแล้ว)
ตลาดในต่างประเทศเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการไปต่างประเทศคือการกระจายความเสี่ยง การแสวงหาโอกาสและการสร้างแบรนด์นั่นเอง ผมยังเคยบอกกับคุณทองมา แห่งพฤกษาว่า ถ้าพฤกษาไปอินโดนีเซียแบบ "สุขุม" จริงๆ ต่อไป ค่อยๆ โตแล้วล่ะก็ ต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า ไม่แน่ว่าพฤกษาแห่งอินโดนีเซีย อาจมีรายได้มากกว่าพฤกษาประเทศไทยก็ได้
การไปต่างประเทศนั้น ไม่ใช่พันธกิจเฉพาะของรายใหญ่ แต่ SMEs ก็สามารถไปต่างประเทศได้ (http://bit.ly/1JYTkXG) และอาจไปได้ดีกว่ารายใหญ่ที่เทอะทะอุ้ยอ้ายได้ ข้อนี้เป็นสิ่งที่เราควรเปลี่ยนทัศนคติเช่นกัน
อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 38/2559: วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2559
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน