CMMU ชี้โอกาสทองผู้ประกอบการไทย พร้อมเผย 7 กลยุทธ์ เจาะตลาดแรงงานพม่า กว่า 2 ล้านคน

ข่าวทั่วไป Tuesday May 3, 2016 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยข้อมูลโอกาสทางการตลาดกลุ่มแรงงานเมียนมาในประเทศไทยแก่ผู้ประกอบการมีแนวโน้มเติบโต พร้อมแนะกลยุทธ์ 7 ข้อเพื่อเจาะตลาดแรงงานชาวเมียนมาอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเผยข้อมูลกลุ่มสินค้าที่เป็นที่ต้องการกลุ่มตลาดแรงงานพม่า ได้แก่ 1. ของใช้ภายในครัวเรือน 2. เสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว 3. เครื่องดื่มชูกำลัง 4. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ 5. ทองคำ ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดงานสัมมนาการตลาดภายใต้หัวข้อ "เจาะตลาดอย่างไร ให้ตรงใจแรงงานเมียนมาในไทย" เมื่อเร็วๆนี้ ณ อาคารมิว วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์บุริม โอทกานนท์ รองคณบดีงานสนับสนุนการศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาการตลาดวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า หลังมีการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ชาวเมียนมาในประเทศไทยเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยจาก องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) จำนวนประมาณการของชาวเมียนมาทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกในประเทศไทยสูงถึง 2.3 ล้านคน โดยรายได้เฉลี่ยของแรงงานเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 9,000 บาทต่อเดือน มีเม็ดเงินจากแรงงานเมียนมาหมุนเวียนในประเทศไทยราว 20,700 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลต่างๆเหล่านี้ต่างสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มแรงงานชาวเมียนมาเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่น่าจับตามองของเหล่านักการตลาดไทย โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่ต้องการกลุ่มตลาดดังกล่าวได้แก่ 1. ของใช้ภายในครัวเรือน 2. เสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว 3. เครื่องดื่มชูกำลัง 4. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ 5. ทองคำ ที่นอกจากแรงงานชาวเมียนมาจะซื้อเพื่อตนเองแล้ว ยังนิยมซื้อเมื่อกลับภูมิลำเนาอีกด้วย ซึ่งในแต่ละเดือนแรงงานชาวเมียนมาใช้จ่ายกับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆเหล่านี้กว่า 3,000 บาท หรือประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ อาจารย์บุริม กล่าวต่อว่า จากการศึกษาวิจัยของนักศึกษาในหัวข้อ "เจาะตลาดอย่างไร ให้ตรงใจแรงงานเมียนมาในไทย" ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างแรงงานชาวเมียนมา พบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อพฤติกรรมบริโภคของแรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทยคือ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในพม่า โดยสาเหตุอาจแบ่งเป็นทั้งในเรื่องความเคยชิน ความไว้วางใจในสิ่งที่ตนเคยใช้ และในเรื่องของภาษาและปัญหาทางด้านการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจที่ได้จากการทำวิจัยกับกลุ่มเป้าหมายแรงงานชาวเมียนมาคือ ผู้ที่มีอิทธิพล (Influencer) ต่อการเลือกซื้อสินค้าของชาวเมียนมามากที่สุดคือ คนใกล้ชิด โดยอาจจะเป็น เพื่อนชาวเมียนมาด้วยกัน หรือชาวเมียนมาที่ทำงานมาก่อน ฉะนั้นแล้วเรื่องของหลักการตลาดแบบ "ปากต่อปาก" (Word of Mouth) จึงเป็นหลักสำคัญที่นักการตลาดต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษหากต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายแรงงานชาวเมียนมา โดยช่องทางการตลาด (Marketing Channel) ที่ต้องมุ่งเน้นเป็นพิเศษ คือ การทำการตลาดออนไลน์ (Online Marketing) โดยเฉพาะ การทำการตลาดบนเฟสบุ๊ค (Facebook) ที่แรงงานชาวเมียนมามากว่า 60 เปอร์เซ็นต์ให้ความสนใจ และถือเป็นช่องทางที่มีอิทธิพลมากที่สุด ด้าน นางสาวชัญญพัชร บุนนาค นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และตัวแทนโครงการวิจัย "เจาะตลาดอย่างไร ให้ตรงใจแรงงานเมียนมาในไทย" กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทำวิจัยพบว่า การทำการตลาดกับกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาไม่จำเป็นต้องใช้จำนวนเงินมากมาย แต่ต้องใช้ความเข้าใจและจริงใจ โดยหากตั้งใจที่จะเจาะตลาดดังกล่าว และมองว่าแรงงานชาวเมียนมาเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญกลุ่มหนึ่งแล้วนั้น โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการทำการตลาดกับแรงงานชาวเมียนมาก็มีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว และอีกสิ่งสำคัญที่อยู่ในใจแรงงานเมียนมาในประเทศไทย คือ "ความกลัว" ในเรื่องต่างๆ อาทิ กลัวตำรวจจับ กลัวถูกรังแก กลัวถูกหลอก กลัวถูกดูถูก จึงนำไปสู่กลยุทธ์ 7 ข้อภายใต้คอนเซ็ปต์ "NO FEARS" เพื่อเจาะตลาดแรงงานชาวเมียนมาอย่างมีประสิทธิภาพ N – Network : ทำให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จักผ่านเพื่อนฝูง คนรู้จักในหมู่แรงงานพม่า O – Open-minded : เปิดใจว่าแรงงานเมียนมาก็เหมือนคนไทย F – Fairness : ให้ความเท่าเทียม มีความยุติธรรม E – Experience : เปิดโอกาสให้ได้ทดลองใช้ และมีกิจกรรมต่างๆที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง A – Awareness : ช่วยลดปัญหาเรื่องการสื่อสาร และสนับสนุนการรับรู้ด้วยการรองรับภาษาเมียนมา R – Relationship : สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และสร้างความไว้ใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย S – Simple : ทำการตลาดด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ซับซ้อน อีกทั้งยังได้ ได้ทำการเก็บข้อมูลด้วยวิธีสัมภาษณ์แรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานในโรงงาน ทำงานบริการ และผู้ช่วยแม่บ้าน จำนวน 200 คน พบกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานเมียนมาคิดว่าประเทศไทยทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น 52 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานเมียนมาวางแผนจะอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 5 ปีขึ้นไป และ 66 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานเมียนมาวางแผนจะอยู่ในประเทศไทยหากได้รับใบอนุญาตถาวร โดยผลสำรวจดังกล่าวเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่านักการตลาดที่ต้องการประสบความสำเร็จไม่ควรมองข้ามกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ ด้าน นางสาวชัญญพัชร กล่าว นายณรงค์ศักดิ์ อัศวสกุลไกร ผู้จัดการกองสินค้า ตัวแทนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลัง เอ็ม-150 กล่าวเสริมว่า แรงงานเมียนมาในประเทศไทยเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ทางบริษัทต้องการเจาะตลาดผ่านการทำการตลาดเฉพาะกลุ่มอย่างจริงจังตั้งแต่ประมาณ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งหัวใจหลักของการทำการตลาดกับกลุ่มแรงงานเมียนมา คือ "การผูกมิตรอย่างเข้าใจ" โดยทางทีมวิจัยการตลาดได้ลงไปศึกษาอินไซท์ในพื้นที่เพื่อเรียนรู้พฤติกรรม ความชอบ ความสนใจ ความต้องการของแรงงานเมียนมา จนเข้าใจและสามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างตรงจุด อาทิ การใช้พิธีกรชาวเมียนมา เลือกของรางวัลเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดที่ถูกใจกลุ่มแรงงานเมียนมา เช่น หม้อหุงข้าว ไมโครเวฟ หม้อนึ่ง พัดลม เป็นต้น รวมไปถึงรู้จักวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวเมียนมาที่ชอบร่วมงานบุญมากกว่างานรื่นเริง อันนำไปสู่การเข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์ในงานบุญต่างๆ ซึ่งผลลัพธ์ของการจัดกิจกรรมต่างๆดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม อันเห็นได้จากยอดขายสินค้าในบริเวณที่มีแรงงานเมียนมาเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ