กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แนะ 3 ข้อ ก่อนพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำ ได้แก่ "ข้อมูลอัตราค่าครองชีพ" "ความสามารถของผู้ประกอบการ" และ "สภาพเศรษฐกิจภาพรวม" ทั้งนี้ จากข้อมูลการปรับขึ้นค่าแรงในปัจจุบันพบว่า นายจ้างส่วนใหญ่จะพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงแก่ลูกจ้างตามฝีมือของลูกจ้างและความเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ หากลูกจ้างมีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีทักษะความสามารถทางวิชาชีพ โดยโรงงานที่ใช้แรงงานฝีมือบางแห่งมีค่าจ้างสูงถึง 400-700 บาทต่อวัน ในบางสาขา/อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ยานยนต์ อัญมณี และโลจิสติกส์ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานโดยรัฐควรให้การส่งเสริมศักยภาพแรงงานเพื่อการยกระดับแรงงานอย่างเป็นระบบ และลูกจ้างสามารถสอบวัดระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับค่าจ้างของตนเอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์องค์กรแรงงานไทย "คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)" ได้เรียกร้องให้ภาครัฐและเอกชนปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำจากเดิม 300 บาท เป็นวันละ 360 บาทหรือร้อยละ 20 ของค่าจ้างขั้นต่ำเดิมและขอให้ปรับเท่ากันในทุกจังหวัด เนื่องด้วยองค์กรแรงงานไทยแจ้งว่าไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตโดยเป็นการสำรวจกลุ่มแรงงานที่อาจยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศและทุกกลุ่มประเภทของแรงงาน ซึ่งจากการสำรวจนั้นพบว่าค่าครองชีพของกลุ่มตัวอย่างอาจสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้รับจึงออกมาเรียกร้องให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยข้อที่ควรคำนึง คือ ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างสำหรับแรงงานที่แรกเข้า มีทักษะที่ต่ำ เมื่อมีการทำงานไปสักระยะก็จะได้รับการปรับตามโครงสร้างค่าจ้างที่กำหนดในสถานประกอบการ โดยค่าจ้างขั้นต่ำนี้เป็นค่าจ้างที่เพียงพอต่อการครองชีพของแรงงานในสินค้าที่จำเป็น ในขณะเดียวกันค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่อาจมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ข้อเรียกร้องดังกล่าวจึงอาจเป็นเงื่อนไขที่ดำเนินการได้ยากในมุมมองของผู้ประกอบการ คือ เป็นการเพิ่มต้นทุนของสถานประกอบการที่ใช้แรงงานทักษะต่ำ ในขณะด้านผู้ประกอบการก็ไม่มีปัจจัยจูงใจให้เกิดการลงทุนหรือจ้างงานในพื้นที่ที่ห่างไกลเนื่องจากมีต้นทุนค่าแรงงานที่เท่ากับพื้นที่ด้านในที่มีสาธารณูปโภคและการคมนาคมที่สะดวกกว่า
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคณะกรรมการค่าจ้าง ที่ได้รับข้อมูลจากอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐที่เรียกว่าระบบไตรภาคี ที่จะต้องดำเนินการส่งข้อมูลรายละเอียดสภาพเศรษฐกิจของจังหวัด ความสามารถของผู้ประกอบการ และค่าครองชีพของลุกจ้าง และมติเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงมายังอนุกรรมการวิชาการของคณะกรรมการค่าจ้างในส่วนกลาง จากนั้นทางอนุกรรมการวิชาการจะมีการรวบรวมข้อมูล เพื่อทำข้อเสนอการพิจารณาอัตราค่าจ้างว่าควรปรับขึ้นในอัตราเท่าไหร่ ก่อนจะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอไปยังคณะกรรมการค่าจ้างซึ่งมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน เพื่อพิจารณาว่าจะปรับขึ้นเท่าไร และมีมาตรการอื่นๆอย่างไร ตามลำดับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย กล่าวต่อว่า สำหรับเกณฑ์การพิจารณาปรับโครงสร้างค่าแรงขั้นต่ำของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ดังต่อไปนี้
- ข้อมูลอัตราค่าครองชีพ อันได้แก่ค่าใช้จ่ายของบุคคลหรือครัวเรือนในการซื้อสินค้าและบริการสำหรับการดำรงชีวิต อยู่ซึ่งดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ดัชนีราคาผู้บริโภคชุดรายได้น้อย ซึ่งในปัจจุบันจะพบว่าดัชนีราคามีการขยายตัวเพิ่มเพียงเล็กน้อย
- ความสามารถของผู้ประกอบการ ภาครัฐและแรงงานต้องพิจารณาถึงความพร้อมและความสามารถในการจัดสรร รวมถึงผลประกอบการธุรกิจของผู้ประกอบการซึ่งการปรับค่าแรงขึ้นถ้าเกิดผลจริงย่อมส่งผลต่อผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานเข้มข้นในกระบวนการผลิตซึ่งหากมีการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินไปย่อมเกิดการเลิกจ้างที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มราคาสินค้า ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นการเชื่อมโยงผลกระทบกันแบบเป็นห่วงโซ่
- สภาพเศรษฐกิจภาพรวม เป็นการประเมินจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยจากข้อมูลปี 2559 ซึ่งพบว่า ณ เวลานี้ สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัวดีนัก โดยเป็นลักษณะทรงตัว มีเพียงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวที่ต่อเนื่อง อุปสงค์หรือความต้องการในประเทศยังชะลอตัว มูลค่าการส่งออกที่หักสินค้าหมวดทองคำยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าหลักอย่าง ประเทศจีน ปรับกำลังซื้อลงจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเกิดการชะลอตัวซึ่งสิ่งดังกล่าวล้วนต้องนำมาประกอบการพิจารณาอย่างละเอียด รวมถึงสภาวะของการจ้างงาน การเลิกจ้างและอัตราการว่างงาน
ทั้งนี้ จากข้อมูลการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันพบว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นแบบก้าวกระโดดและเท่ากันในทุกพื้นที่นั้นอาจส่งผลกระทบในภาพกว้างคล้ายกับการปรับขึ้น 300 บาทเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหากปรับขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่ได้อยู่ในจังหวะที่เหมาะสมย่อมทำให้ผลกระทบต่อการจ้างงานที่อาจลดลง มีการเลิกจ้างมากขึ้น ต้นทุนของสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศที่จะลดลง อาจเป็นผลกระทบในภาพรวมที่แย่ลง แต่ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการและภาครัฐอาจต้องพิจารณาระดับการครองชีพของแรงงานที่เป็นจริงและจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของแรงงานในกรณีที่ราคาสินค้าที่เป็นปัจจัยในการครองชีพเพิ่มสูงขึ้น
ท้ายสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบและแรงงานการมีพัฒนาความสามารถของตนเองสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีทักษะต่างๆเพิ่มเติมเพื่อรองรับต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในขณะที่ผู้ประกอบการก็ต้องมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้านอกจากนี้ การใช้ระบบค่าจ้างที่สะท้อนความสามารถ ประสบการณ์ของแรงงาน เช่น ระบบโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการ และระบบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการด้านแรงงานในอนาคต บทบาทของค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นเพียงหลักประกันให้กับแรงงานที่เพิ่งเริ่มเข้ามาในตลาดแรงงานให้เพียงพอต่อการครองชีพเท่านั้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th