กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--เดอะเวย์ คอมมิวนิเคชั่น
'เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท' พร้อมยื่นไฟลิ่ง ต่อสำนักงานก.ล.ต. หลังเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจท์เม้นท์ จำกัด หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (FN) ผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์จัดจำหน่ายสินค้าประเภท "เอ๊าท์เลท" ที่ได้รับการยอมรับมายาวนานกว่า 15 ปี โดยสินค้าที่วางจำหน่ายเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเป็นส่วนใหญ่ และตราสินค้าอื่น ๆ ที่เป็น International Brand เป็นส่วนใหญ่ เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ ซึ่งสินค้าที่วางจำหน่ายมีความหลากหลาย อาทิ เสื้อผ้า เครื่องนอน เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ในบ้าน โดยปัจจุบัน FN จำหน่ายสินค้าผ่านเอ๊าท์เลท 7 สาขา ทั่วประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด อยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมสำหรับการยื่นคำขอเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน โดยคาดว่าจะสามารถยื่นไฟลิ่งได้เร็วๆนี้
ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 2558 ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีรายได้รวมเท่ากับ 1,121.19 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 146.43 ล้านบาท
นายปรีชา ส่งวัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (FN) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้ออกแบบและสั่งผลิต และจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้า เครื่องนอน เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน ที่ได้รับการยอมรับมายาวนานกว่า 15 ปี มีศูนย์จำหน่ายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ เพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสสัมผัสสินค้าคุณภาพส่งออกจากผู้ผลิตโดยตรง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทฯ มุ่งเน้นที่จะพัฒนาสินค้าให้มีเอกลักษณ์เฉพาะ ที่มีคุณภาพ และมีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท มีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2540 จากความต้องการที่จะแก้ปัญหาธุรกิจที่ทำร่วมกับพี่น้องในครอบครัวคือธุรกิจเสื้อผ้าตราสินค้า "FLY NOW " ในการบริหารสต๊อกสินค้าหลังจากที่กำลังซื้อของลูกค้าลดลง โดยการปรับพื้นที่โรงงานในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่ขายของโดยที่ไม่บวกค่าขนส่ง และค่าการตลาด นั่นจึงกลายเป็นจุดกำเนิดของ FN Factory Outlet ศูนย์จำหน่ายสินค้าในรูปแบบของเอ๊าท์เลทแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด "คุณภาพส่งออก ราคาผู้ผลิต" โดยปัจจุบัน FN จำหน่ายสินค้าผ่านเอ๊าท์เลท 7 สาขา ทั่วประเทศ ได้แก่ เพชรบุรี, กาญจนบุรี, พัทยา, ปากช่อง, สิงห์บุรี, หัวหิน และศรีราชา
'ในช่วงที่ลูกค้าขาดกำลังซื้อ ธุรกิจอยู่ในสภาวะถดถอยในปี 2540 ผมในฐานะผู้บริหารธุรกิจเสื้อผ้าจึงต้องหาทางออกจากวิกฤตนี้ เรานำสินค้าในสต๊อก มาขายโดยปรับพื้นที่ในโรงงานที่เพชรบุรีมาทำเป็นสถานที่ขายของในราคาที่ไม่บวกค่าขนส่ง และค่าการตลาด ซึ่งได้การตอบรับที่ดีมาก โดยหลังจากนี้การเป็นบริษัทมหาชนจะถือเป็นก้าวที่สำคัญของบริษัทฯ ที่จะยกระดับสู่ความเป็นสากล และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น รวมถึงเป็นการส่งต่อการบริหารจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย' นายปรีชากล่าว
นายเบญจ์เยี่ยม ส่งวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (FN) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อเตรียมยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยขั้นตอนต่างๆ จะมอบให้เป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้ เป้าหมายสำหรับการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น เพื่อให้บริษัทฯ มีภาพลักษณ์ที่เป็นมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับของลูกค้า และคู่ค้าของบริษัทฯ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายช่องทางในการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของบริษัทฯ ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน
สำหรับสินค้าที่บริษัทฯจัดจำหน่ายมีทั้งสินค้าอุปโภคและสินค้าบริโภค โดยแบ่งออกเป็นสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัท (House Brand) ได้แก่ ตราสินค้า In-co, Cheval, Lady De'Cheval, Cheval Kids, Sleep Mate, Nipon, Prim, Cushy, Cushy Luxury, Cherish, Cherish Kids, Rollica และ ETC ซึ่งเป็นตราสินค้าจำหน่ายสินค้าอุปโภคได้แก่ เครื่องใช้ในครัวเรือนและการเดินทาง (Non-Apparel) และเครื่องนุ่งห่ม (Apparel) และสินค้าภายใต้ตราสินค้าอื่นๆที่เป็น International Brand เป็นส่วนใหญ่
"เราเตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คืบหน้าไปค่อนข้างมากจากการทำงานร่วมกับ FA ซึ่งความต้องการในการเข้าตลาดฯ ของเรา นอกเหนือจากการระดมทุนในการขยายธุรกิจแล้ว ยังเป็นการยกระดับ และมาตรฐานของบริษัทฯให้เป็นที่ยอมรับ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และแสดงถึงความโปร่งใสขององค์กรอีกด้วย เพราะในอนาคตการขยายตลาดจะมีโอกาสมากขึ้นหากเราเป็นบริษัทฯในตลาดหลักทรัพย์" นายเบญจ์เยี่ยมกล่าว