กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--กรมประมง
กรมประมง ประกาศถึงผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ก่อน วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 (วันที่พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มีผลบังคับ) มายื่นขอรับใบอนุญาต พ.ศ.2559 มายื่นคำขอ ระหว่าง 27 เม.ย. – 11 พ.ค.นี้ และใช้ใบรับคำขอเป็นหลักฐานเบื้องต้น ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ไม่มีใบอนุญาตมีความผิดตามกฎหมายและมีโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทและปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่มีการฝ่าฝืน
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 ที่ผ่านมาได้ลงนามในประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมายื่นคำขอรับใบอนุญาต พ.ศ.2559 โดยให้ผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ก่อน วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 (วันที่พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มีผลบังคับ) มาติดต่อสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพฯ กรมประมง / สำนักงานประมงจังหวัด /สำนักงานประมงอำเภอ/ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด / ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง / ศูนย์หรือหน่วยบริหารจัดการด้านการประมง ในเขตพื้นที่ที่ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อยื่นคำขอตามแบบแสดงความประสงค์ขอรับใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และหน่วยงานกรมประมงจะออกใบรับคำขอให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำใช้ เพื่อเป็นหลักฐานเบื้องต้นในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำสาธารณสมบัติจนกว่าจะได้รับใบอนุญาต
ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ สามารถมายื่นคำขอรับใบอนุญาต ได้ระหว่างวันที่ 27 เมษายน ถึง 11 พฤษภาคม 2559 ทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) ทั้งนี้ ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทลงโทษ คือ ปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่มีการฝ่าฝืน
การออกประกาศครั้งนี้ เป็นมาตรการเบื้องต้น เพื่อไม่ให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ มีความผิดในระหว่างที่กรมประมงกำลังเร่งดำเนินการตามบทบัญญัติของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่มีเป้าหมายให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้ง การเพาะเลี้ยงฯ ในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติฯ ซึ่งหมายถึงที่จับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล
นอกจากนี้ พระราชกำหนด ยังมีเจตนารมณ์ให้ประชาชนหรือชุมชนประมงท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการด้วย ดังนั้น คำขอรับใบอนุญาตที่ผู้เพาะเลี้ยงฯ มายื่นไว้ จะนำไปพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเพื่อดำเนินการกำหนดพื้นที่ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป โดยระหว่างการพิจารณานี้ ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติฯ ที่มายื่นคำขอรับใบอนุญาตไว้ในช่วงเวลาที่กำหนดจะยังคงได้รับอนุญาตเบื้องต้นให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไปจนกว่าผลการพิจารณาจะเสร็จสิ้น โดยไม่มีความผิด
อธิบดีกรมประมงได้กล่าวย้ำว่า ใบรับคำขอแบบแสดงความประสงค์ขอรับใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ ที่หน่วยงานกรมประมงออกให้ชั่วคราวนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตดังกล่าวได้รับการอนุญาตตามกฎหมายแล้ว เพราะยังต้องมีการพิจารณากำหนดพื้นที่ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป และเมื่อมีการกำหนดพื้นที่และแนวทางสำหรับการขอรับใบอนุญาตและการพิจารณาอนุญาตเพื่อให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว กรมประมงจะประกาศขอให้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไปอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ กรมประมงได้จัดส่งรายละเอียดของขั้นตอนการปฏิบัติไปยังหน่วยงานของกรมประมงในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว และหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองบริหารจัดการด้านการประมง โทร. 0 2561 4691 หรือ Call Center กรมประมง 02 5620600-15 หรือ สำนักงานประมงจังหวัดทั่วประเทศ