กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--วีม คอมมูนิเคชั่น
มูลนิธิศูนย์ศึกษาและส่งเสริมกิจกรรมสังคม จัดทำโครงการเพิ่มโอกาสด้านการประกอบอาชีพและการมีงานทำร่วมกับสถานประกอบการ ภายใต้การปฎิบัติตามมาตรา 35 ขึ้น โดยร่วมกับกลุ่มแกนนำองค์กรคนพิการ ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ล่าสุดกลุ่มเซ็นทรัล ร่วมสนับสนุนยื่นให้สิทธิคนพิการในพื้นที่ 5 จังหวัด จำนวน 199 คน มูลค่ากว่า 21 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการประเภทฝึกอบรมตามหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า การทำเบเกอรี่ การผลิตเบญจรงค์ และโครงการประกอบอาชีพตู้น้ำมันอัตโนมัติ
มูลนิธิศูนย์ศึกษาและส่งเสริมกิจกรรมสังคม ได้จัดทำโครงการเพิ่มโอกาสด้านประกอบอาชีพและการมีงานทำร่วมกับสถานประกอบการ ภายใต้การปฎิบัติตามมาตรา 35 ขึ้น โดยร่วมกับกลุ่มแกนนำองค์กรคนพิการ ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครปฐม สมุทรสาครและ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งนี้ ด้วยการทำความเข้าใจและประสานการดำเนินงานร่วมกันระหว่างคนพิการ สถานประกอบการ หน่วยงานของกระทรวงแรงงาน ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 กลุ่มเซ็นทรัล 13 บริษัทได้ยื่นให้สิทธิคนพิการตามช่องทางมาตรา 35 แก่คนพิการในพื้นที่ 5 จังหวัด จำนวน 199 คน มูลค่า 21,790,500 บาท ประกอบด้วย โครงการประเภทฝึกอบรมตามหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า การทำเบเกอรี่ การผลิตเบญจรงค์ และโครงการประกอบอาชีพตู้น้ำอัตโนมัติ โดยการสนับสนุนดังกล่าว ทั้ง 3 ภาคส่วน (กลุ่มเซ็นทรัล มูลนิธิ ฯ และองค์กรคนพิการ 5 จังหวัด) ได้มีการลงนามความในความร่วมมือในครั้งนี้ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์/กระทรวงแรงงาน) เป็นสักขีพยาน และจะเริ่มดำเนินการในช่วงปี 2559 เป็นต้นไป
นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทางกลุ่มเซ็นทรัล มองว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสด้านการประกอบอาชีพและการมีงานทำให้กับคนพิการได้มากขึ้น ให้สามารถประกอบอาชีพอิสระหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ โดยทางกลุ่มเซ็นทรัลได้เล็งเห็นในศักยภาพของคนพิการ และให้ความสำคัญการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในทุกระดับให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาทางกลุ่มเซ็นทรัล ได้ทำการเปิดศูนย์บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และศูนย์บริการลูกค้า Contact center สำหรับลูกค้าเพาเวอร์บาย และโฮมเวิร์ค ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล และมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการ ในมูลนิธิคุณพ่อเรย์ พัทยา
นอกจากนี้ ทางกลุ่มเซ็นทรัล ยังมีการทำโครงการ การจัดสัมปทานพื้นที่ขายล็อตเตอรี่ภายในสาขาหน้าร้านให้แก่ผู้พิการ ตั้งแต่ปี 2556 – ปัจจุบัน จัดการฝึกอบรม / ฝึกอาชีพให้แก่ผู้พิการ ให้แก่หน่วยงาน/สมาคมเพื่อผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ในปี 2556-2557 ร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดฝึกอบรมวิชาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานสู่สถานประกอบการ หลักสูตร 6 เดือน ภายใต้แคมเปญ TOGETHER WE CARE โดยฝึกอบรมวิชาชีพ ได้แก่ ช่างซ่อมไฟฟ้า การขายออนไลน์ และการบัญชี ในปี 2558 ร่วมมือกับศูนย์เสริมสร้างทรัพยากร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการ เพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานค้าปลีก
และมีการออกแบบก่อสร้างที่เป็นสากลและเป็นธรรม หรือที่เรียกว่า "อารยะสถาปัตย์" ภายในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัลทุกแห่ง ให้มีทางลาด ขึ้น-ลง เข้า-ออก สัญจรภายนอกและภายในอาคาร รวมถึงลิฟต์โดยสารสำหรับผู้พิการ และห้องน้ำสำหรับคนชรา และผู้พิการ
ข้อมูลเพิ่มเติม
ทั้งนี้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556 ตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดแนวทางการปรับปรุงวิธีการในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในทุกระดับให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมาตรา 33,34 และมาตรา 35 เกี่ยวกับมาตรการด้านการจ้างงานและการส่งเสริมอาชีพคนพิการ โดยมาตรา 35 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ นายจ้างหรือสถานประกอบการที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 อาจให้สัมปทานแก่คนพิการ ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการด้วยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือหรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ พ.ศ. 2558
ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้มีความเหมาะสมและสนองตอบต่อความจำเป็นของคนพิการอีกจำนวนมากที่ยังว่างงานและไม่มีอาชีพ เนื่องจากสภาพร่างกายที่พิการมากสูงอายุเลยวัยจ้างงาน หรือคนพิการที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษา หรือมีภาระทางครอบครัวไม่สามารถออกไปทำงานหรือประกอบอาชีพได้ ซึ่งส่วนใหญ่คือร้อยละ 70 อยู่ในพื้นที่ชนบทจังหวัดต่างๆ การสนับสนุนคนพิการตามช่องทางของมาตรา 35 จึงเป็นทางออกให้คนพิการที่มีข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น สามารถประกอบอาชีพอิสระหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้