กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยชี้การเก็บภาษีเครื่องดื่มรสหวานจากปริมาณน้ำตาล ไม่ใช่การแก้ปัญหาโรคอ้วนและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ของประชาชนอย่างตรงจุด และยังอาจลดรายได้ภาษีของรัฐอีกด้วย พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพพิจารณาข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ อย่างรอบด้าน พร้อมทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม
นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า "ตามที่ได้มีการเสนอข่าวทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เกี่ยวกับแนวคิดในการจัดเก็บภาษีสรรพามิตต่อเครื่องดื่มรสหวาน เพื่อแก้ปัญหาโรคอ้วนและโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยเห็นว่านโยบายดังกล่าวไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและเป็นการเลือกปฏิบัติกับสินค้าเครื่องดื่มอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากโรคอ้วนเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่สมดุล ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานจากการบริโภคมากกว่าที่ใช้ไปในแต่ละวัน ซึ่งพลังงานส่วนเกินเหล่านี้ ไม่ว่าจะมาจากอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใด ก็ล้วนแต่ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ทั้งสิ้น ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าน้ำตาลเป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้น ตามหลักโภชนาการแล้ว น้ำตาลก็เป็นคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นสารอาหารประเภทหนึ่งที่ร่างกายต้องการ และให้ประโยชน์หากบริโภคอย่างพอเหมาะ ไม่ต่างจากสารอาหารประเภทอื่นๆ จึงไม่แน่ใจว่าเหตุใดรัฐจึงมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหานี้ โดยเลือกปฏิบัติเฉพาะกับน้ำตาล และเฉพาะกับน้ำตาลในเครื่องดื่มเท่านั้น"
นายวีระกล่าวต่อไปว่า "ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเข้าใจว่าเครื่องดื่มเป็นสินค้าที่มีการบริโภคทดแทนกันได้สูง กล่าวคือ แม้ภาษีจะทำให้เครื่องดื่มบางประเภทมีราคาที่สูงขึ้น จนอาจทำให้การบริโภคลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นเสมอไป เพราะผู้บริโภคอาจหันไปทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีลักษณะและส่วนประกอบ เช่น ปริมาณพลังงานหรือน้ำตาลที่ใกล้เคียงกัน เช่น เครื่องดื่มรสหวานที่ผู้ผลิตชงขายในร้านอาหารหรือแผงลอยทั่วไป ซึ่งหาซื้อได้ง่ายแต่ราคาถูกกว่าเนื่องจากไม่มีภาระภาษีซึ่งหากเป็นเช่นนั้น มาตรการนี้นอกจากจะไม่ช่วยเรื่องพฤติกรรมการบริโภคแล้ว ยังอาจทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะคนเปลี่ยนการบริโภคจากสินค้าที่เสียภาษีไปบริโภคสินค้าที่ไม่เสียภาษี"
"นอกจากนั้น ผู้ประกอบการอยากให้รัฐมีนโยบายที่ชัดเจนกับสินค้าเครื่องดื่ม เพราะทุกวันนี้เครื่องดื่มหลายประเภทก็ถูกจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพราะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว แต่พอรัฐต้องการควบคุมราคาสินค้า ก็มักขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการร่วมกันตรึงราคาสินค้า เพื่อบรรเทาภาระของผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการก็ให้ความร่วมมือด้วยดีมาโดยตลอด แต่นี่ก็เหมือนจะพยายามเก็บภาษีให้ราคาเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นอีก ส่วนหากรัฐกังวลเรื่องการบริโภคน้ำตาลมากเกินไปนั้น เหตุใดจึงกังวลแต่เฉพาะกับน้ำตาลในเครื่องดื่ม ในขณะที่น้ำตาลโดยทั่วไป รัฐยังมองว่าเป็นสินค้าจำเป็นที่ต้องควบคุมให้ราคาไม่สูงจนเกินไป จะเห็นได้ว่ามาตรการกำกับดูแลเหล่านี้ยังมีความลักลั่นกันอยู่มาก ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่ารัฐควรมีนโยบายในเรื่องนี้ที่ชัดเจน เพื่อจะได้วางแผนการประกอบธุรกิจและการลงทุนได้อย่างมั่นใจ" นายวีระกล่าว
"ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคที่ไม่สมดุล หรือการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่พอเพียง ประชาชนบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลาย ดังนั้นการใช้มาตรการที่เป็นการเลือกปฏิบัติกับอาหารหรือเครื่องดื่มประเภทใดประเภทหนึ่งเพื่อจะแก้ปัญหานี้จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ทางสมาคมฯ พร้อมสนับสนุนและร่วมทำงานกับทุกฝ่ายในการพัฒนาสุขภาพโดยรวมของคนไทย ควบคู่กับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในประเทศไทย หากเราต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างจริงจัง ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ อุตสาหกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจะร่วมมือกันในการหาวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพในระยะยาวของคนทั้งประเทศ" นายวีระกล่าวสรุป