กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--อย.
อย. เข้มปรับเปลี่ยนระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารใหม่ให้สอดคล้องกับสากล เพื่อให้เกิดความคล่องตัว เพิ่มมาตรฐานให้ผู้ประกอบการถือปฏิบัติ ซึ่ง รมว. สธ. ได้ลงนามให้การปรับแก้ไขประกาศฯ อาหาร จำนวน 22 ฉบับ เรียบร้อยแล้ว โดยปรับลดงานด้านเอกสาร เน้นงานกำกับดูแลสถานที่ผลิตอย่างใกล้ชิดต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน GMP และกำหนดเลขสารบบอาหารแบบใหม่ไว้บนฉลากอาหารด้วย คาดได้ผลดี เพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
ภญ. ฉันทนา จุติเทพารักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข เปิดเผยว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีนโยบายปรับเปลี่ยนระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารให้เหมาะสมกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน และรับการกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการค้าของโลก ที่มีการแข่งขันอย่างเสรี จึงจำเป็นต้องปรับแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณะสุข ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว จำนวน 22 ฉบับ ได้แก่ ประกาศฯ เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตและการเก็บรักษาอาหาร (GMP) ฉลาก เครื่องดื่มเกลือแร่ ชา กาแฟ น้ำมันถั่วเหลืองในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท น้ำแร่ธรรมชาติ ซอสในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ซอสบางชนิด ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง น้ำปลา น้ำส้มสายชู น้ำมันและไขมัน น้ำมันเนย เนยเทียม ครีม เนยแข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป น้ำผึ้ง รอยัลเยลลี่และผลิตภัณฑ์รอยัลเยลลี่ แยม เยลลี่ และมาร์มาเลดในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เป็นต้น ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ววันที่ 24 มกราคม 2544 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นไป โดยมีการปรับสถานะของอาหารควบคุมเฉพาะบางประเภทเป็นอาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน ทำให้อาหารควบคุมเฉพาะลดลงเหลือ 17 ประเภท และอาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานเพิ่มจากเดิมเป็น 31 ประเภท สาระสำคัญอีกส่วนคือเพิ่มความรับผิดชอบของสถานที่ผลิต โดยผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร หรือ GMP ทั้งนี้ ผู้ผลิตรายใหม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ GMP ทันที สำหรับผู้ผลิตรายเก่า จะผ่อนผันให้ต้องปฏิบัติตามภายใน 2 ปี หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้มีการปรับเลขทะเบียนตำรับอาหาร เลขอนุญาตใช้ฉลากอาหาร และเลขแจ้งรายละเอียดของอาหารจากเดิมเป็นเลขสารบบอาหาร โดยให้ผู้ประกอบการรายเก่ายื่นขอรับเลขสารบบอาหารภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ และจะได้รับการผ่อนผันให้ใช้ฉลากเดิมไปจนกว่าจะหมดแต่ต้องไม่เกิน 2 ปี ส่วนรายใหม่มีผลบังคับทันที
ผู้ทรงคุณวุฒิฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารสู่ระบบใหม่นี้ จะทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตออกมามีคุณภาพ ประชาชนได้รับความปลอดภัยในการบริโภคมากขึ้น เพราะ อย.มีมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้นทุกขั้นตอน ทั้งในเรื่องของสถานที่ผลิต และกระบวนการผลิต จากการนำหลักเกณฑ์ GMP มาบังคับใช้ในโรงงานผลิต ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีการผลิตที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ จะมีมาตรการลงโทษอย่างเข้มงวด
หากมีข้อสงสัย หรือต้องทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่ กองควบคุมอาหารหมายเลขโทรศัพท์ 590-7177 และ 590-7195 หรือขอรับประกาศฯ ได้ที่ กองเผยแพร่และควบคุมการโฆษณาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาชั้น 6 ทุกวันในเวลาราชการ--จบ--
-นห-