กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉิน การกู้ชีพและช่วยชีวิตทางน้ำ หลักสูตรการกู้ชีพและช่วยชีวิตทางน้ำ (Maritime and Aquatic Life Saving) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการบริการทางน้ำ ในเขตบริการสุขภาพที่ 12 ที่เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า การเจ็บป่วยทางน้ำเป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่ง และเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งจากสถิติพบว่าในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ หรืออุบัติเหตุทางน้ำ มากขี้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีสถิติการเสียชีวิตสูงถึงปีละ 1,117 คน หรือวันละ 3.2 คน และในเพศชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า
สำหรับการเจ็บป่วยฉุกเฉินทางน้ำ โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลนั้น สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การจมน้ำ อันตรายจากการดำน้ำด้วยสกูบ้า อันตรายจากสัตว์น้ำ สัตว์มีพิษ ซึ่งการเจ็บป่วยดังกล่าวจะต้องอาศัยองค์ความรู้และทักษะเฉพาะในการดูแลช่วยเหลือ และนำส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอย่างทันท่วงที ดังนั้น สพฉ. จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาบุคคลกรให้มีความพร้อม และมีประสิทธิภาพเพื่อลดการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การกู้ชีพและช่วยชีวิตทางน้ำขึ้น โดยใช้เวลาในการอบรมทั้งสิ้น 3 วัน ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ฝึกเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งจะมีการให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ดังนี้ ความรู้เบื้องต้นในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ความรู้เบื้องต้นสำหรับภาวะการเจ็บป่วยทางน้ำที่พบบ่อย ความรู้เบื้องต้นในการช่วยเหลือ การปฐมบาล และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางน้ำ และการนำส่งในยานพาหนะนอกเหนือจากรถพยาบาล อีกทั้งยังมีการจำลองสถานการณ์ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินได้ฝึกปฏิบัติด้วย
นายแพทย์อนุชา กล่าวต่อว่า การฝึกอบรมดังกล่าว ถือเป็นการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางน้ำแล้ว ยังเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสำหรับภัยพิบัติที่อาจขึ้นในอนาคตด้วย และยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวด้วย
อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ถือเป็นฤดูที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมไปเที่ยวทะเลเพื่อคลายร้อน ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้เตรียมพร้อมให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย และป้องกันตัวเองก่อน คือ ไม่ควรว่ายน้ำคนเดียว ควรว่ายกับเพื่อนหรือเป็นกลุ่ม หรืออย่างน้อยต้องมีผู้อื่นรู้ว่าเรากำลังเล่นน้ำอยู่ที่ใด ไม่ควรว่ายน้ำออกไปไกลจากฝั่ง ควรว่ายขนานกับฝั่ง และไม่ลงเล่นน้ำในเวลากลางคืน ไม่ควรกระโดดน้ำในบริเวณน้ำตื้น น้ำขุ่น หรือไม่ทราบสภาพใต้น้ำ หรือขณะที่ฝนฟ้าคะนอง นอกจากนี้ต้องไม่ลงเล่นน้ำหากดื่มสุรา อดนอน อ่อนเพลีย หรือเมายา ควรเตรียมชุดว่ายน้ำที่เหมาะสมสำหรับลงเล่นน้ำ และสิ่งสำคัญที่สุดคือควรเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตไว้ให้พร้อมเสมอ เช่น ห่วงชูชีพ หรือเชือก และควรขึ้นจากน้ำทันทีหากเห็นน้ำขุ่นแดงไหลผ่าน และวิ่งหนีขึ้นที่สูงทันทีหากเห็นน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว
"ประชาชนทั่วไปเองควรเรียนรู้เรื่องห่วงโซ่การรอดชีวิตจากการจมน้ำด้วย คือ 1. เรียนรู้หลักในการว่ายน้ำและทักษะในการเอาชีวิตรอดจากน้ำที่ถูกต้อง 2. รู้จักอาการคับขัน และวิธีการร้องขอความช่วยเหลือเช่นการโบกมือขึ้นลงเหนือศีรษะให้คนอื่นรู้ว่ากำลังประสบภัย การตะโกน 3. รู้จักวิธีการลอยตัวอยู่ในน้ำ เช่น การฝึกลอยตัวโดยใช้ท่าแม่ชีลอยน้ำ คือลอยตัวแบบนอนหงาย ขาแขนเหยียดตรงเหมือนนอนอยู่บนที่นอน เงยหน้ายกคางเพื่อใช้ปากหายใจ โดยประชาชนจะต้องฝึกท่านี้ให้เป็นเพราะจะเป็นหนึ่งในท่าสำคัญที่จะทำให้เรามีชีวิตรอดจากการจมน้ำ และที่สำคัญคือต้องมีสติไม่ตกใจ 4.รู้จักการช่วยเหลือโดยไม่จำเป็นต้องลงน้ำ ด้วยการยื่นหรือโยนอุปกรณ์ให้ผู้ประสบภัยจับหรือเกาะ 5. รู้วิธีการขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ด้วยการโทรแจ้งสายด่วน 1669 และหากพบว่าผู้ป่วยไม่หายใจก็ต้องรีบช่วยเหลือด้วยการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน" นพ.อนุชา