กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
ตามมาตรการ PPP Fast Trackและแนวทางการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ที่จะสิ้นสุดสัญญาโดยโครงการทั้งหมดมีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 204,000 ล้านบาท
คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ในการประชุมครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2559 ณ กระทรวงการคลัง โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาการดำเนินโครงการร่วมลงทุน 3 โครงการ และมีมติสรุปดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการของการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย(ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ) ตามข้อเสนอของ รฟม. ที่กำหนดให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่อง (Through Operation) สำหรับการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในภาพรวม โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า และให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการฯ แบบ PPP Net Cost โดยเอกชนเป็นผู้รับผลประโยชน์และความเสี่ยงจากค่าโดยสารในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการฯ เป็นระยะเวลา 30 ปี และภาครัฐไม่มีภาระทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการสนับสนุนภาระทางการเงินและการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งนี้ ให้เอกชน
ดำเนินการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าช่วงเตาปูน – บางซื่อ ให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มเดินรถเป็นลำดับแรกก่อน ซึ่งวงเงินลงทุนรวมของโครงการทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 84,000 ล้านบาท
2. เห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางการให้เช่าที่ราชพัสดุที่ปัจจุบันใช้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีความเห็นให้บริษัทเช่าที่ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 30 ปี ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับภาครัฐ ประกอบกับการดำเนินการดังกล่าวจะสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินกิจการของภาครัฐ และช่วยสนับสนุนความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ และให้กำหนดผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ภาครัฐในอัตราที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนตามราคาตลาด ตามข้อเสนอของกรมธนารักษ์ทั้งนี้ ได้กำหนดให้กรมธนารักษ์จัดให้มีการประเมินมูลค่าตลาดของค่าเช่าโดยผู้ประเมินอิสระอีกครั้งก่อนการกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนในการให้เช่าที่ราชพัสดุดังกล่าวเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ โดยการต่อระยะเวลาการเช่าที่ราชพัสดุนี้เป็นไปตามการเสนอของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ที่จะรองรับการลงทุนเพิ่มเติมของบริษัทประมาณ120,000 ล้านบาท
3. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและการท่าเรือแห่งประเทศไทยดำเนินการขอรับนโยบายให้ชัดเจนถึงแผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ และหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ดังกล่าวให้สอดคล้องกับข้อจำกัดทางกฎหมายของการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อประกอบการพิจารณาโครงการพัฒนาพื้นที่ 17 ไร่ ต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ได้ติดตามความคืบหน้าของอีก 4 โครงการภายใต้มาตรการ PPP FastTrack ของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย – มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสีสายเหลือง (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ) ตามกำหนดระยะเวลาของPPP Fast Track และโครงการ Motorway สายบางปะอิน – นครราชสีมา และสายบางใหญ่ - กาญจนบุรี ซึ่งกรมทางหลวงคาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมได้ในเดือนพฤษภาคม 2559 รวมทั้งได้รับทราบการใช้บังคับของกฎกระทรวงที่ได้เพิ่มมูลค่าโครงการ PPP ที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ เป็น 5,000 ล้านบาทตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2559 และรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐที่ได้มีการให้เงินสนับสนุนการจ้างที่ปรึกษาสำหรับโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของจังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบกแล้ว