กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การขับเคลื่อนกระบวนการและกลไก สหวิชาชีพในการคุ้มครองเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวที่ถูกกระทำความรุนแรง" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทีมสหวิชาชีพ ซึ่งเป็นกลไกในระดับจังหวัด ประกอบด้วย อัยการจังหวัดผู้ช่วย พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) ประจำโรงพยาบาลในจังหวัด เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัว และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ที่ต้องทำงานประสานกันในระดับจังหวัด เพื่อให้ทีมสหวิชาชีพมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและสามารถใช้กลไกตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้หญิงและเด็กจากการกระทำความรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสหวิชาชีพในระดับจังหวัด " โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒ – ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ขอชื่นชมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่เห็นความสำคัญ และร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง ซึ่งในระดับนโยบายกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ร่วมจัดงานในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับของผู้ปฏิบัติงานที่ต้องให้บริการ จัดการแก้ไขปัญหา รวมถึงการดูแลผู้ที่ถูกกระทำ ด้วยความรุนแรงที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งต้องทำงานประสานส่งต่อและเชื่อมโยงกันในลักษณะของทีมสหวิชาชีพ และต้องทำงาน ด้วยความตระหนักและเข้าใจถึงความละเอียดอ่อนและความซับซ้อนของปัญหา ทั้งนี้ ทีมสหวิชาชีพเหล่านี้จะเป็นพลังสำคัญและเป็นที่พึ่งให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่รับบริการได้เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน อย่างมีประสิทธิภาพ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบัน ครอบครัว (สค.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง ได้ใช้วิธีการและกลไกหลายรูปแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทั้งการรณรงค์สร้างกระแสให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในการ ที่จะ "ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว" รวมถึงการแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชม. เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรง
"ทั้งนี้ สำหรับรูปแบบกิจกรรม ประกอบด้วย การบรรยาย การฝึกปฏิบัติในกระบวนการรับเรื่องร้องทุกข์ การสอบปากคำ การสอบสวน การเขียนคำร้อง การรวบรวมพยานหลักฐาน การประสานทีมสหวิชาชีพ ในกรณีความรุนแรง ในครอบครัว ความผิดทางเพศ การค้ามนุษย์ โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรม คือ ทีมสหวิชาชีพจากพื้นที่ ๑๖ จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๐๐ คน" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย