กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ตอกย้ำบทบาทภาควิชาการมุ่งผลักดันงานวิจัยด้านการรับมือของเมือง ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Urban Climate Resilience) เสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ชี้ปัจจุบันการพัฒนาเมือง ทำให้เกิดการหลั่งไหลทางเศรษฐกิจ การลงทุนอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภค จนละเลยการวางแผนที่ถูกต้อง ส่งผลให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
"ปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรง อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น และภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังปรากฎเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการกลายเป็นเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากในภูมิภาคนี้ ทำให้เมืองต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปตามการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้เมืองต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความเปราะบาง ซึ่งมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการปรับเปลี่ยนรูปแบบของระบบตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในเมืองเพื่อให้มีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงที่จะได้รับจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้" นายเดวิด เดไวน์ (H.E. Mr. David Devine) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศเวียดนาม ได้กล่าวระหว่างเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการประจำปี ครั้งที่ 2 ภายโครงการพันธมิตรเพื่องานวิจัยด้านการรับมือของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UCRSEA (Urban Climate Resilience in Southeast Asia Partnership) ณ ศูนย์การศึกษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ CRES (Centre for Natural Resources and Environmental Studies) เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อเร็วๆ นี้
การประชุมจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำหรับภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาครัฐและนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จากประเทศไทย กัมพูชา พม่า เวียดนามและแคนาดา มาร่วมพูดคุยถึงความเชื่อมโยงและผลกระทบจากการกระจายการบริหารจัดการออกสู่ระดับภูมิภาคหรือภูมิภาคาภิวัฒน์ การกลายเป็นเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและหาแนวทางการจัดการปัญหา ความท้าทายต่างๆ ด้านความเปราะบางจากสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือ IDRC (the International Development Research Centre) และสภาการวิจัยมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ประเทศแคนาดา หรือ SSHRC (Social Sciences and Humanities Research Council (SSHRC) of Canada)
โครงการ UCRSEA เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มหาวิทยาลัยโตรอนโต้ มหาวิทยาลัยยอร์ค มหาวิทยาลัยออตตาว่าในประเทศแคนนาดา และองค์กรพัฒนาเอกชน กับมหาวิทยาลัยสำคัญต่างๆ ในภูมิภาค โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยใหม่ๆที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย โดยการสร้างหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และทำให้เกิดพื้นที่สำหรับเวทีเสวนาสาธารณะ
นอกจากนี้ ดร.พิจิตต รัตตกุล คณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครและผู้อำนวยการศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่ง หรือ ADPC (Asian Disaster Preparedness Center) กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการที่ทั้ง 8 เมือง เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อร่วมเผยแพร่ผลจากการศึกษาวิจัยด้านการสร้างการรับมือของเมืองสู่แนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงเพื่อเป็นต้นแบบให้กับเมืองอื่นๆ ในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เนย์ ฮทุน (Prof.Nay Htun) ยังเตือนให้ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม 4 องศา และดร.บาช ทาน ซินห์ (Dr.Bach Than Sinh) จากสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและยุทธศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ หรือ NISTPASS ประเทศเวียดนาม ยังย้ำอีกว่าในอนาคตเมืองจะมีความเหมาะสมทั้งด้านสังคมและระบบนิเวศ
ทั้งนี้ ระหว่างกาประชุมยังมีการนำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัยจากภาคีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ของแต่ละประเทศรวมทั้งแผนการดำเนินงานในอนาคต นอกจากนี้โครงการ UCRSEA ยังให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่นักวิชาการและนักวิจัยที่สนใจและมุ่งเน้นการศึกษาด้านการรับมือของเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Urban Climate Resilience ซึ่งที่ผ่านมาทางโครงการฯ ได้สนับสนุนการอบรมด้านการเขียน (Write Shop) ให้กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม เพื่อสร้างศักยภาพให้กับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาให้สามารถผลิตโครงการวิจัยและเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยได้ดีขึ้น ซึ่งการเปิดรับสมัครเพื่อขอทุนสนับสนุนจะประกาศในเว็บไซต์ของ UCRSEA สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://urbanclimateresiliencesea.apps01.yorku.ca
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ:
โครงการพันธมิตรเพื่องานวิจัยด้านการรับมือของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UCRSEA (Urban Climate Resilience in Southeast Asia Partnership)
โทรศัพท์ 0-2533-3333 ต่อ 327 โทรสาร 0-2504-4826-8
เว็บไซต์ http://urbanclimateresiliencesea.apps01.yorku.ca, www.thaicity-climate.org