กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2559 ของบริษัทและบริษัทย่อย ("ซีพีเอฟ") ด้วยรายได้จากการขายจำนวน 105,513 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 กำไรสุทธิจำนวน 3,764 ล้านบาท หรือเท่ากับ 0.51 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน
รายได้จากการขายมาจากกิจการในต่างประเทศร้อยละ 60 เติบโตจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 12 ซึ่งเป็นรายได้ที่เกิดจากการลงทุนในประเทศต่าง ๆ จำนวน 13 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีโอกาสและศักยภาพในการขยายตัวของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม อาทิเช่น จีน เวียดนาม อินเดีย รัสเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนกิจการในประเทศไทยรวมการจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศมีสัดส่วนร้อยละ 40 ของรายได้จากการขายรวมเติบโตร้อยละ 6 จากระดับราคาเนื้อสัตว์ที่ฟื้นตัวจากภาวะสินค้าล้นตลาดในปีที่ผ่านมา
จากความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นของกิจการในต่างประเทศ โดยเฉพาะจากผลการดำเนินงานของธุรกิจของ CP Pokphand Co.,Ltd. หรือ CPP (43HK) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจสัตว์บกในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของภาวะสินค้าล้นตลาดในปีที่ผ่านมา ประกอบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค Early Mortality Syndrome หรือ EMS อัตรากำไรขั้นต้นสำหรับไตรมาส 1 ปี 2559 จึงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 16 ในปี 2559 ส่งผลให้ในภาพรวมซีพีเอฟมีกำไรสุทธิจำนวน 3,764 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากปีก่อน
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวถึงแนวโน้มและแนวทางในการดำเนินธุรกิจสำหรับปี 2559 นี้ ว่า บริษัทได้ดำเนินกลยุทธ์หลักในการขยายธุรกิจ 2 ประการ คือ การขยายตลาดไปยังประเทศที่มีโอกาสและศักยภาพในการขยายตัวของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ซึ่งมีเป้าหมายในการผลิตและจำหน่ายในประเทศนั้น ๆ เป็นหลัก โดยมีการพิจารณาการลงทุนใน 2 รูปแบบ ทั้งขยายธุรกิจเอง (Organic Growth) และการเข้าไปซื้อกิจการ (Merger& Acquisition) ซึ่งการขยายกิจการไปต่าง ประเทศ นี้เป็นส่วนสำคัญหลักในการผลักดันการเติบโตของซีพีเอฟในอนาคต
กลยุทธ์หลักประการที่ 2 คือ การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเติบโตจากกิจการในประเทศไทยเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการลงทุนในธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้นในทุกประเทศที่บริษัทได้เข้าไปลงทุน โดยล่าสุดนี้
คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้ CPP ที่ดูแลกิจการในประเทศจีนและเวียนาม เข้าทำรายการลงทุนใน Hubei Chia Tai Co., Ltd. ที่เป็นผู้ดำเนินธุรกิจไก่ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในเขตภาคตะวันตกกลางของประเทศจีน ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจในประเทศจีนไปยังธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้น
ด้วยกลยุทธ์หลักของการขยายธุรกิจทั้ง 2 ด้านประกอบกับการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยจากปีที่ผ่านมา ทำให้เชื่อมั่นว่าผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้น่าจะดีขึ้นจากปี 2558 ด้วยเป้าหมายรายได้จากการขายเติบโตประมาณร้อยละ 10-15 และมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น
นายอดิเรก กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยบวกที่ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯดีขึ้น ประกอบด้วย ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ถูกลง, ราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวดีขึ้น, การเลี้ยงกุ้งกลับมาและเริ่มทำกำไร และการลงทุนในต่างประเทศเริ่มส่งผลดีกับรายได้ของบริษัท
ทั้งนี้ ธุรกิจเนื้อไก่ส่งออกในช่วงไตรมาศแรกเพิ่มขึ้น 17% ทั้งในตลาดยุโรปและญี่ปุ่น เนื่องจาก ซีพีเอฟ สามารถผลิตสินค้าได้มาตรฐานอาหารปลอดภัยตรงกับความต้องการตลาด โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น บริษัทฯถือหุ้นในอิโตชู ซึ่งเป็นบริษัทการค้าชั้นนำของญี่ปุ่น และเป็นผู้บริหารร้านสะดวกซื้อแฟมมิลี่ มาร์ท จำนวน 10,000 สาขา และไซเคิล เค อีก 6,000 สาขา ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการกระจายสินค้าของ ซีพีเอฟ ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ราคาสุกรมีการปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกการตลาดเนื่องจากภาวะวิกฤตแล้งและขาดน้ำ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการซื้อน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งสภาพดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยแต่ทั่วทั้งภูมิภาคเอเซีย เช่น จีน เขมร ลาว เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟ มีแผนขยายธุรกิจในการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารสำหรับผู้ป่วย อาหารสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีการทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อผลิตอาหารสำหรับผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการรักษา และยังเห็นโอกาสในการพัฒนาซอสปรุงรสอาหาร โดยจะมีการลงทุนรวม 700 ล้านบาท ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สำหรับการซื้อกิจการในต่างประเทศ บริษัทฯยังคงแสวงหาโอกาสตลอดเวลาซึ่งขณะนี้มีหลายบริษัทฯที่น่าสนใจอยู่ระหว่างการศึกษาและตวจสอบข้อมูล.