กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--IR Network
"ขวัญชัย ณัฏฐ์เศรษฐ์" เอ็มดี บมจ.สาลี่ คัลเล่อร์ (COLOR) แย้มผลงาน Q2/59 สดใส หลังออเดอร์ทะลัก พร้อมเล็งเพิ่มกำลังการผลิตอีก 25-30% หนุนกำลังผลิตรวมเพิ่มเป็น 60,000 ตันต่อปี คาดได้ข้อสรุปในเดือนมิถุนายนนี้ มั่นใจรายได้ปีนี้เติบโต 7-8% ตามแผน หลังบุกตลาดออสเตรเลีย-ยุโรป หวังเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 20% พร้อมโชว์รายได้ Q1/59 เติบโต 13% จากช่วงปีก่อน
นายขวัญชัย ณัฏฐ์เศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน) (COLOR) เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 2/2559 คาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากการเริ่มรับรู้รายได้จาก โครงการใหม่ๆ ที่เป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า ขณะที่มองว่ากลุ่มลูกค้าหรือผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์-หีบห่อบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ยังคงมีความต้องการใช้เม็ดพลาสติกเพื่อผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง
กรรมการผู้จัดการ กล่าวอีกว่า บริษัทฯ คงเป้าหมายรายได้ในปี 2559 เติบโตประมาณ 7-8% จากปีก่อน โดยคาดว่าในไตรมาส 2 และ 3 จะเติบโตประมาณ 10-20% จากโครงการพัฒนาสินค้าที่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป อีกทั้ง บริษัทฯ มุ่งรักษาส่วนแบ่งการตลาดหลักภายในประเทศ พร้อมกับบุกตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นทั้งในอาเซียน - ออสเตรเลียและยุโรป
ทั้งนี้ คณะกรรมการกลุ่มย่อยที่ได้รับมอบหมายให้ทำการศึกษาโครงการเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนที่เหลืออยู่อีก 25-30% หรือ 15,000-20,000 ตันต่อปี เพื่อให้กำลังผลิตรวมเพิ่มเป็น 60,000 ตันต่อปีนั้น ขณะนี้กำลังดำเนินการศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ และเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการตลาด คาดว่าจะสามารถสรุปผลในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ โดยในไตรมาส 1/2559 ที่ผ่านมาอัตราการผลิตอยู่ที่ 68% หรือ 7,000 ตัน เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
"กลยุทธ์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เราจะเร่งเพิ่มสัดส่วนการตลาด เพื่อเติมเต็มกำลังการผลิตของเครื่องจักรที่ยังมีเหลืออยู่ให้สอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจ คาดว่าแรงผลักดันจากราคาน้ำมันและสภาพเศรษฐกิจ จะกระตุ้นความต้องการในตลาดอุสาหกรรมพลาสติกให้สูงยิ่งขึ้น" นายขวัญชัย กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯในไตรมาส 1/2559 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 242 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 215 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 8.8 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 10.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการกำหนดนโยบายราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในช่วงที่มูลค่าวัตถุดิบเปลี่ยนแปลงผันผวนตามราคาน้ำมัน และควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้นให้เป็นไปตามนโยบายการขยายส่วนแบ่งตลาด ซึ่งส่งผลให้กำไรลดลงบางส่วน