กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
จากที่มีกรณีกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนกระทำความผิดและได้รับการเปรียบเทียบปรับหรือถูกกล่าวโทษในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มากขึ้นและต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งในบางกรณี แม้ว่าจะได้รับการเปรียบเทียบปรับตามข้อกำหนดทางกฎหมายแล้ว แต่ก็ปรากฏชัดเจนว่า คณะกรรมการบริษัทยังไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะตรวจสอบและดำเนินการลงโทษทางวินัยต่อการกระทำผิดดังกล่าวอย่างจริงจัง ทำให้เกิดความกังวล ห่วงใยเกี่ยวกับการทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการของกรรมการในฐานะสถาบันที่สำคัญในการปฏิบัติตามบรรทัดฐานที่ดีงาม
ในเรื่องนี้ คณะกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในฐานะสถาบันมีความเห็นว่า การกระทำผิดของกรรมการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในบริษัทจดทะเบียนนั้น ถือเป็นความผิดร้ายแรงซึ่งคณะกรรมการบริษัทไม่ควรเพิกเฉย เพราะตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี กรรมการต้องทำหน้าที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัทฯ อย่างซื่อสัตย์สุจริต มีความรอบคอบระมัดระวังต่อเหตุที่จะสร้างความเสียหายต่อบริษัท หรือต่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของบริษัท
คณะกรรมการ IOD ในนามสมาคมที่มุ่งส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลที่ดี เป็นสากลมาเป็นเวลากว่า 15 ปี จึงเสนอให้มีการดำเนินการในระดับบริษัท หน่วยงานกำกับดูแล และตัวสถาบัน IOD เอง ในประเด็นต่อไปนี้
1. บริษัทจดทะเบียน ควรสร้างระบบการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย กฎเกณฑ์ หลักธรรมาภิบาล จริยธรรมและ
การทำหน้าที่แก่กรรมการและผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงจัดให้มีการตรวจสอบข้อมูลการทำความผิดและโทษที่ได้รับตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในอดีตของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการ และผู้บริหารระดับสูง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเสนอชื่อผู้ที่บริษัทเลือกเข้ามาเป็นผู้บริหารหรือกรรมการของบริษัท
2. หน่วยงานกำกับดูแล
2.1 ควรกำหนดให้ผู้ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในความผิดที่ร้ายแรง
ดังกล่าวขาดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทจดทะเบียนอีกต่อไป
2.2 ควรแก้ไขวิธีการพิจารณาลงโทษและบทลงโทษในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินของกรรมการในบริษัท
จดทะเบียนให้มีความเข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ผู้จะกระทำเกิดความเกรงกลัวที่จะกระทำผิด
3. ในส่วนของ IOD คณะกรรมการ IOD เห็นควรและได้มีมติให้มีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างที่ดีและป้องกันการกระทำที่จะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ดังนี้
3.1 ไม่จัดทำการประเมินบริษัทตามโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย หรือ
Corporate Governance Report of Thai Listed Companies (CGR) เป็นเวลา 2 ปี ในกรณีที่บริษัทหรือกรรมการของบริษัทถูก ก.ล.ต. เปรียบเทียบปรับ หรือถูกกล่าวโทษหนึ่งปีก่อนการประเมินสิ้นสุด ในเรื่องดังต่อไปนี้:
3.1.1 มีการกระทำ หรือละเว้นกระทำการโดยไม่สุจริต หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการทำธุรกรรมของบริษัทหรือบริษัทย่อย และเป็นเหตุให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหาย หรือเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลอื่นได้รับประโยชน์โดยมิชอบ หรือ
3.1.2 มีการเปิดเผย หรือเผยแพร่ข้อมูล หรือข้อความเกี่ยวกับบริษัท หรือบริษัทย่อยอันเป็นเท็จที่อาจทำให้สำคัญผิด หรือโดยปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นผู้ลงทุน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือ
3.1.3 มีการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือการเอาเปรียบผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
3.2 สนับสนุนการนำประวัติการกระทำผิดของกรรมการหรือผู้บริหารตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ในช่วงสามปีก่อนหน้ามาประกอบการพิจารณารับหรือต่ออายุการเป็นสมาชิกของสถาบัน IOD ทั้งในระดับบุคคลและนิติบุคคล ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการ IOD จะนำเสนอให้ที่ประชุมสมาชิก IOD พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนความก้าวหน้าและการเติบโตของธุรกิจและระบบเศรษฐกิจ เป็นภาระหน้าที่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันส่งเสริมให้ภาคธุรกิจของประเทศมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการ IOD ขอชมเชยบทบาทการทำหน้าที่ของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยที่ได้ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลและการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในบริษัทเอกชน
คณะกรรมการ IOD ขอย้ำให้กรรมการบริษัทร่วมกันส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยให้ความสำคัญกับความถูกต้อง และจริยธรรมในการทำธุรกิจ รวมถึงการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างกรรมการที่ดีตามหลัก Fiduciary Duty เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในภาคธุรกิจไทยเกิดขึ้นจริงจัง และมีพัฒนาการที่ดีต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย