กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกชนิด น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95เพิ่มขึ้น 0.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Reuters รายงาน Niger Delta Avengers (กองกำลังแบ่งแยกดินแดน Niger Delta ออกจากไนจีเรีย) ระเบิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ Marakaba ของ Chevron Corp. เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 59 หลังจากวันที่ 4 พ.ค. 59 ได้โจมตีแหล่งผลิตของ Chevron และก่อนหน้า ได้เตือนให้บริษัทน้ำมันออกจากพื้นที่ภายใน 2 สัปดาห์
· Supply Disruption ในหลายประเทศ อาทิ ไนจีเรีย แคนาดาและลิเบีย ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยแหล่งผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียถูกผู้ก่อการร้ายโจมตี แหล่งผลิตน้ำมันของแคนาดาประสบปัญหาจากไฟป่า ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียลดลงจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 พ.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 10 Rig มาอยู่ที่ 318 Rig ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 8
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 พ.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 540.0 ล้านบาร์เรล และเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่เดือน มี.ค. 59
· IEA ปรับคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกในปี 2559 อยู่ที่ระดับ 95.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 40,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 1.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และประเมินความต้องการใช้น้ำมันดิบจากกลุ่ม OPEC หรือ Call on OPEC เพิ่มขึ้น 200,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 32.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· ผู้ผลิต Oil Sands หลายราย อาทิ Shell , Enbridge Inc. และ Suncor Energy Inc. เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตหลังไฟป่าในแคนาดาปรับทิศทางออกนอกบริเวณพื้นที่ผลิต ทั้งนี้ Reuters ระบุผู้ผลิตน้ำมันต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่ากำลังการผลิตจะเพิ่มสู่ระดับปกติ
· Reuters รายงาน SOMO บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิรักส่งออกน้ำมันดิบ Basrah Light ปริมาณ 77.15 ล้านบาร์เรล และ Basrah Heavy ปริมาณ 27 ล้านบาร์เรล ในเดือน มิ.ย. 59 หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 380,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 3.57 ล้านบาร์เรล
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 พ.ค. 59 สถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 17,783 สัญญา มาอยู่ที่ 218,032 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนด้านปัจจัยพื้นฐาน โดย อุปสงค์/อุปทาน ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะสถานการณ์ในไนจีเรีย ซึ่งกองกำลังแบ่งแยกดินแดน Niger Delta Avengers ที่ต้องการยึดพื้นที่ Niger Delta ออกจากประเทศไนจีเรียโจมตีแหล่งผลิตและท่อขนส่งน้ำมันดิบของบริษัทข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนมุมมองของนักวิเคราะห์ที่ประเมินราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนว่าราคาจะยืนระดับเหนือ45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ได้อย่างน้อยอีกสัปดาห์ ทั้งยังมีโอกาสทะยานขึ้นไปแตะระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หากสถานการณ์มีความรุนแรงและขยายขอบเขตโดยเฉพาะในกรณีที่กองทัพบกไนจีเรียปฏิบัติการทางทหารอย่างเด็ดขาดตามที่ได้ประกาศว่าจะกวาดล้างกลุ่มดังกล่าวให้หมดสิ้น เป็นแรงสนับสนุนราคาน้ำมันดิบ อนึ่งเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน นักวิเคราะห์ประมาณปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในไนจีเรียลดลงมาอยู่ที่ 1.4-1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ล่าสุดลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ทศวรรษ เหลือ 0.9-1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน อนึ่งก่อนเกิดเหตุความไม่สงบไนจีเรียมีแผนส่งมอบน้ำมันดิบ 337,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. 59 ซึ่งล่าสุดต้องประกาศยุติการส่งมอบน้ำมันดิบจากเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) นอกจากนี้ ให้จับตาแรงหนุนราคาน้ำมันดิบเพิ่มเติมหากปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องหลังสัปดาห์ก่อนลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน มี.ค. 59 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากปัจจัยด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flows) หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ขณะที่สัปดาห์ก่อนนักลงทุนลดสถานะการถือครองสุทธิสัญญาน้ำมันดิบ WTI (Net Long Position) ซึ่งสัปดาห์นี้แรงซื้ออาจกลับเข้ามาหากสถานการณ์ในไนจีเรียทวีความรุนแรงขึ้น ในสัปดาห์นี้ ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่า ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 46-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล , Nymex WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 45-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 42 - 46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงาน ผู้ค้าน้ำมันคาดว่า บริษัท Shell ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการโรงกลั่นน้ำมัน Bukom (กำลังการกลั่น 500,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 58 แม้จะได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงานตั้งแต่ปลาย ธ.ค. 58 ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน IESรายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน1.01 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.52 ล้านบาร์เรล ใกล้เคียงระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 30 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 400,000 บาร์เรล หรือ 3.0 % อยู่ที่ 11.3 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Platts ประเมินอุปทานน้ำมันเบนซินในตลาดเอเชียล้นตลาด อีกทั้งคาดว่าปริมาณการเก็บสำรองของอินโดนีเซียก่อนหน้าเทศกาลรอมฎอนในปีนี้ จะไม่สูงมากเนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินในประเทศเพิ่มขึ้น อนึ่งเทศกาลรอมฎอนจะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 มิ.ย. 59 ประกอบกับ Reuters รายงานการส่งออกน้ำมันเบนซินไปยุโรปถูกจำกัดเพราะปริมาณสำรองอยู่ในระดับสูง ส่วนไนจีเรียนำเข้าน้ำมันเบนซินลดลงเพราะไนจีเรียมีขีดความสามารถในการชำระเงินค่านำเข้าน้ำมันลดลงเพราะเข้าถึงแหล่งเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ลำบาก สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์น้ำมันดีเซล จากเวียดนามแข็งแกร่งต่อเนื่อง อาทิ Vietnam National Petroleum Import-Export Corp. (Petrolimex) ออกประมูลซื้อ 0.05 %S จำนวน 2เที่ยวเรือๆ ละ 270,000 บาร์เรล ส่งมอบ 1-5 มิ.ย.และ 6-10 มิ.ย. 59 ทั้งนี้ Petrolimex นำเข้าน้ำมันดีเซล ส่งมอบ พ.ค.59 ปริมาณรวม 1.1 ล้านบาร์เรล ระดับใกล้เคียงกับ เม.ย. 59 ขณะที่ โรงกลั่น Mangalore (กำลังการกลั่น 300,000บาร์เรลต่อวัน) ของอินเดียหยุดดำเนินการโรงกลั่นบางส่วนเนื่องจากขาดแคลนน้ำจากภาวะอากาศร้อนจัด ทั้งนี้อุณหภูมิที่สูงขึ้นในภูมิภาคเอเชียกระตุ้นการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และ Platts รายงานอุปทานน้ำมันดีเซลในตลาดจร จาก Formosa Petrochemical Corp. (FPCC) ของไต้หวันตึงตัว ในเดือน มิ.ย. 59 เนื่องจากบริษัทตกลงส่งมอบให้ลูกค้าที่ทำสัญญาระยะยาว (Term) ปริมาณรวม 1,500,000 บาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลของจีนที่อยู่ระดับสูงยังคงกดดันราคา และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 830,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.87 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 30 เม.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 600,000 บาร์เรล หรือ 6.4 % อยู่ที่ 9.5 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51 - 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล