ผู้ว่าฯกทม. แถลงนโยบายใช้งบปี44 ต่อสภากทม.เน้นดำเนินงาน 7 ด้านหลัก

ข่าวทั่วไป Thursday July 27, 2000 10:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--กทม.
ที่สภากรุงเทพมหานคร วันนี้ (26 ก.ค.43) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2543 ที่ประชุมได้พิจารณาญัตติ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2544 โดยนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้แถลงนโยบายงบประมาณ หลักการ และเหตุผลประกอบร่างข้อบัญญัติดังกล่าวต่อสภากทม. ผู้ว่าราชการกทม.แถลงว่า นโยบายงบประมาณปี 2544 ได้กำหนดขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินนงานตามแผนพัฒนากทม. ฉบับที่5 ซึ่งประกอบด้วยงาน 6 สาขา คือ 1.สาขาผังเมืองและการใช้ที่ดิน 2. การจราจร ขนส่ง และสาธารณูปโภค 3. สิ่งแวดล้อม 4.ทรัพยากรมนุษย์และสังคม 5. การบริหารและการปกครอง และ 6. การคลัง โดยมีการกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งจะเน้นการดำเนินการ 3 แนวทาง คือ การศึกษา การสาธารณสุข และการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งมีงานที่สำคัญ ได้แก่ การซ่อมแซมบาทวิถีผิวจราจร การจราจรขนส่ง ระบบการจัดเก็บ กำกัด และแยกขยะ การแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง อุบัติเหตุและอุบัติภัย การให้สวัสดิการผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากคูคลอง การใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน การรักษาพยาบาล การป้องกันยาเสพติด การสร้างลานกีฬาและพื้นที่สีเขียว
ทั้งนี้ กทม.ได้กำหนดวงเงินงบประมาณปี 2544 ไว้จำนวน 23,298.40 ล้านบาท เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน คาดว่า กทม.จะสามารถจัดเก็บรายได้ประมาณ 23,000 ล้านบาท ประกอบกับต้องรักษาวินัยทางการคลังตามนโยบายของรัฐบาล และต้องจัดทำงบประมาณตามหลักการของข้อบัญญัติกทม. เรื่องวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2529 จึงเห็นควรให้จัดทำงบประมาณปี 2544 เป็นงบประมาณแบบสมดุล กล่าวคือ กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 23,000 ล้านบาทเท่ากับประมาณการรายรับ
สำหรับสาระสำคัญของร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ปี 2544 นั้น กทม.ได้ประมาณการรายรับ(รวมการพาณิชย์) เป็นเงินรวม 23,425.72 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2543 เป็นเงิน 983.55 ล้านบาทแยกเป็นรายรับที่เป็นรายได้ประจำจำนวน 23,000 ล้านบาท และรายรับจากการพาณิชย์จำนวน 425.72 ล้านบาท ส่วนงบประมาณรายจ่ายนั้น กทม.ได้จัดทำงบประมาณแบบแผนงานเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสภาพของงานเดิม และลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อการพัฒนาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวควบคู่กันไป โดยจัดเป็นรายจ่ายประจำจำนวน 23,000 ล้านบาท และงบรายจ่ายของการพาณิชย์ 298.40 ล้านบาท
คำแถลงประกอบร่างข้อบัญญัติฯยังระบุด้วยว่า งบประมาณรายจ่ายจำนวน 23,000 ล้านบาทนั้นได้จัดสรรสำหรับการดำเนินงานของทุกหน่วยงาน โดยมีนโยบายในการดำเนินงานในแต่ละด้าน ดังนี้
1. ด้านการบริหารงานทั่วไป จำนวน 4,044.85 ล้านบาท(17.59%) นโยบายสำคัญประกอบด้วย การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการปฏิบัติงานและการให้บริการแก่ประชาชน การส่งเสริมปีท่องเที่ยวไทย การปริวัติการบริหารงานของ 50 สำนักงานเขต และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของกทม.
2. ด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย จำนวน 3,592.29 ล้านบาท(15.62%) นโยบายสำคัญประกอบด้วย การรณรงค์ลดมลภาวะต่างๆ เช่นการกวดขันให้บริการตรวจวัดลดควันดำ การเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บขยะ กำจัดมูลฝอยติดเชื้อ การคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดสิ่งปฏิกูล ตลอดจนการดำเนินงานเทศกิจที่เกี่ยวกับการควบคุม บังคับการ ให้พื้นที่กทม.มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
3. ด้านการโยธาและจราจร จำนวน 5,207.10 ล้านบาท(22.67%) และได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจำนวน 3,303.15 ล้านบาท รวมเป็น 8,510.25 ล้านบาท นโยบายที่สำคัญประกอบด้วย การสร้างสะพานและถนนเพิ่มเพิ่มพื้นที่จราจร เร่งปรับปรุงไหล่ถนน ผิวจราจร บาทวิถี การตีเส้นเครื่องหมายจราจร และติดตั้งป้านสัญญาณจราจร การจัดทำแผนงานและโครงการที่เกี่ยวกับการจราจรและขนส่งของกทม. รวททั้งการจัดทำผังเมืองของกทม. และเสนอมาตรการควบคุมการใช้ที่ดินในเขตกทม. เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาและการลงทุน
4. ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย จำนวน 2,631.20 ล้านบาท (11.44%) และได้รับเงินอัดหนุนจากรัฐบาลอีก 693.20 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,324.40 ล้านบาท นโยบายที่สำคัญประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก การเตรียมการป้องกันภัยน้ำท่วมฉุกเฉิน การสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและปรับปรุงสถานีสูบน้ำ การขุดลอกและพัฒนาคลองเพื่อระบายน้ำ ตลอดจนการบำบัดน้ำเสียก่อนระบายลงสู่ทางน้ำสาธารณะ
5. ด้านการพัฒนาและบริการสังคมจำนวน 1,991.94 ล้านบาท(8.66%) นโยบายที่สำคัญประกอบด้วยการเพิ่มสวนสาธารณะ สวนหย่อม ลานกีฬา และลานคนเมือง การพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและการกีฬา พัฒนาฟื้นฟูมรรถภาพคนพิการ และสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัยและปัญหาเฉพาะหน้า
6. ด้านสาธารณสุข จำนวน 3,455.32 ล้านบาท(15.22%) และได้รับอุดหนุนนจากรัฐบาลอีก 22.20 ล้านบาท รวมเป็น 3,477.52 ล้านบาท นโยบายสำคัญ คือ การให้บริการรักษาพยาบาลในเวลาและนอกเวลาราชการที่โรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข การให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และบริการหน่วยแพทย์กู้ชีวิต การรณรงค์ป้องกันโรคที่สำคัญ การคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบสารเคมีตกค้าง การพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีและในซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงการป้องกันและบำบัดผู้ติดยาเสพติด และ
7. ด้านการศึกษา จำนวน 2,077.30 ล้านบาท(9.03%) และได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจำนวน 3,673.49 ล้านบาท รวมเป็น 5,750.79 ล้านบาท โดยมีนโยบายสำคัญ คือ การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนตลอดจนพัฒนาระบบการบริหารการศึกษา การผลิตสื่อการเรียนการสอน การสนับสนุนนักเรียนเกี่ยวกับเครื่องแบบ อุปกรณ์การเรียนและกีฬา ทุนการศึกษา ทุนอาหารกลางวัน และอาหารเสริม ส่งเสริมการพัฒนาครูตามเกณฑ์มาตรฐานระดับคุณภาพ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และส่งเสริมศักยภาพโรงเรียนสู่การประกันคุณภาพด้วย--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ