กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
ฟิทช์-กรุงเทพ/ลอนดอน 18 มิถุนายน 2544: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จะให้อันดับเครดิตระยะยาวที่ระดับ 'AAA(tha)' แก่หุ้นกู้มีประกันมูลค่า 2.4 พันล้านบาทหรือ 53.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และหุ้นกู้มีประกันมูลค่า 1.0 พันล้านบาทหรือ 22.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ออกภายใต้ medium-term note program (MTN) โดยบริษัท ไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด (ไพรมัส) อันดับเครดิตที่ฟิทช์จะให้แก่หุ้นกู้มีประกันนี้มีพื้นฐานมาจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขจากบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต (ฟอร์ด เครดิต) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับระดับเครดิตแบบสากล 'A+' (Negative Outlook) สำหรับสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งเป็นระดับเครดิตที่สูงกว่าอันดับ 'BBB-' (BBB minus) สำหรับสกุลเงินต่างประเทศและ 'BBB+' สำหรับสกุลเงินบาท (Stable Outlook) ที่ประเทศไทยได้รับ จากการค้ำประกันประกอบกับข้อมูลที่ได้จากผู้บริหารของทั้งบริษัทไพรมัส ลีสซิ่ง และ ฟอร์ด เครดิต ฟิทช์ เชื่อว่า ฟอร์ด เครดิตจะให้การค้ำประกันการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยกับผู้ลงทุนในตราสารหนี้นี้อย่างตรงเวลา และเต็มมูลค่า
ไพรมัสเป็นบริษัทลูกที่ถือ 100% โดยบริษัท ฟอร์ด เครดิต อินเตอร์เนชั่นเนล ซึ่งเป็นบริษัทที่รับผิดชอบทางด้านการลงทุนของ ฟอร์ด เครดิต ไพรมัสมีความสำคัญต่อการดำเนินงานของบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ (ฟอร์ด) ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นบริษัทลีสซิ่งที่ช่วยส่งเสริมการขายรถในกลุ่มฟอร์ด นับตั้งแต่ปี 2538 ฟอร์ด ได้ลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเป็นจำนวนประมาณ 30% ของการลงทุนทั้งหมดของฟอร์ดในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นสถานที่ตั้งของสำนักงานส่วนกลางของ ฟอร์ด และ ฟอร์ด เครดิต ของภูมิภาคอาเซียนนี้
รายได้ของไพรมัสสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสองปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์และการที่บริษัทมีคู่แข่งลดลดลงจากการปิดตัวของบริษัทเงินทุน 56 แห่ง รายได้ของไพรมัสเพิ่มขึ้นจาก 113 ล้านบาทหรือ 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2540 มาเป็น 769 ล้านบาทหรือ 17.1 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2543 ผลประกอบการในปี 2543 ไพรมัสมีกำไร 27 ล้านบาทหรือ 0.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากผลขาดทุน 38 ล้านบาทหรือ 0.8 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2542 ไพรมัสได้มีการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้ที่ไม่ได้รับการชำระเกินกว่า 90 วัน) ต่อมูลหนี้ทั้งหมด นั้นน้อยกว่า 0.5% ในปี 2543 ไพรมัส มีผลขาดทุนจากการตัดหนี้สูญ 49 ล้านบาทหรือ 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 0.75% ของมูลหนี้โดยเฉลี่ย เทียบกับ 1.47%ในปี 2542 สัดส่วนเงินสำรองต่อผลขาดทุนจากการตัดหนี้สูญอยู่ในระดับ 2.6 เท่า ในปี 2543 ดีขึ้นจาก 1.2 เท่าในปี 2542
ถึงแม้ว่าผลประกอบการและคุณภาพสินทรัพย์ของไพรมัสจะดีขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา การที่รายได้ส่วนใหญ่ของไพรมัสขึ้นอยู่กับยอดขายของรถในกลุ่ม ฟอร์ด (รวมถึง ฟอร์ด มาสด้า และ วอลโว่) มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของประเทศไทย นอกจากนี้การที่ไพรมัสใช้เงินทุนจากการกู้ยืมเพื่อขยายกิจการ ส่งผลให้ไพรมัสมีสัดส่วนของหนี้สินที่ค่อนข้างสูง อันดับเครดิตที่ฟิทช์จะให้กับหุ้นกู้มีประกันนี้ก็มีพื้นฐานมาจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขของ ฟอร์ด เครดิต และความแข็งแกร่งด้านการเงินของบริษัทแม่ทั้ง ฟอร์ด และ ฟอร์ด เครดิต การจัดอันดับครั้งนี้จะสมบูรณ์ ต่อเมื่อเราได้รับสำเนาของหนังสือค้ำประกันฉบับจริงจาก ฟอร์ด เครดิต และ ที่ปรึกษาทางด้านกฏหมายได้แสดงความเห็นจากสำเนาหนังสือค้ำประกันฉบับจริงเท่านั้น สำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์หาได้จาก www.fitchratings.com
ติดต่อ
ดุษฎี ศรีชีวะชาติ, ผู้ช่วยกรรมการ, Financial Institutions, กรุงเทพฯ +662 655 4762
Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ, กรุงเทพฯ +662 655 4759
Marvin G. Behm, CFA, กรรมการ, Corporate Finance, Chicago +1 312 368 3209
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 'AAA' ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย--จบ--
-อน-