กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
ที่ประชุม คตง. มีมติชี้ ปตท. มีการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ. ๓๕/๒๕๕๐ และมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ๒๕๕๐ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมิได้ถูกโอนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สินซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง ผู้ว่า สตง. เผย เตรียมดำเนินการทางอาญาทางละเมิด/ทางแพ่ง และทางวินัยกับเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งมีศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นประธานที่ประชุม เพื่อพิจารณาผลการตรวจสอบสืบสวนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตามหนังสือร้องเรียนกรณีการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดง ที่ ฟ.๓๕/๒๕๕๐ ที่ประชุม คตง. พิจารณาแล้วมีมติเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบของ สตง. ดังนี้
๑. การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ ฟ.๔๗/๒๕๔๙ คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.๓๕/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ กล่าวคือ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.๔๗/๒๕๔๙ และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.๓๕/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ ให้คณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ - ๓ มิได้มีส่วนร่วมในการกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินฯ ตามคำพิพากษา โดยการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มิได้ถูกนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาก่อนการลงนามบันทึกการแบ่งแยกฯ ตลอดจนมิได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนการยื่นคำร้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ และ ไม่ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เข้ามีส่วนร่วมในการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ
๒. การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐ กล่าวคือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ว่า "...ข้อ ๒.๒ เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ อำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้ หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มี ข้อยุติต่อไป..." แต่จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ของการปิโตรเลียมฯ มิใช่เป็นกรณีที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการตามที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนด และมิได้ให้ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง นอกจากนี้ สำหรับกรณีท่อก๊าซในทะเลซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเห็นไม่ตรงกัน โดย สตง. ได้มีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานทราบ ตามหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ตผ 0023/0415 ลงวันที่ 28 มกราคม 2551 และหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ตผ 0023/0416 ลงวันที่ 28 มกราคม 2551 ซึ่งเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 โดยไม่มีการนำเรื่องท่อก๊าซในทะเลให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาให้มีข้อยุติ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐
๓. การจัดทำบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ การแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท. เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการแบ่งแยกและโอนให้แก่กระทรวงการคลัง ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีการเสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ให้คณะรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ แต่กลับมีกระบวนการเสนอให้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมิใช่บุคคลตามบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และคณะรัฐมนตรีมิได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสามารถพิจารณาอนุมัติการแบ่งแยกทรัพย์สินได้แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบโดยมิได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและเป็นไปโดยมิชอบ นอกจากนี้ กระบวนการจัดทำร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีกรณีการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๕ กล่าวคือ มิได้ส่งร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา อันทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
๔. การเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษา โดยแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด กล่าวคือ ภายหลังจากการลงนามบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ แล้ว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ทยอยส่งมอบพื้นที่และทรัพย์สินตามที่ปรากฏในบันทึกฯ ให้กับกรมธนารักษ์ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ได้มีการประชุมร่วมระหว่าง สตง. กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่ง สตง. ได้เสนอร่างรายงานการตรวจสอบฯ ทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีความเห็นว่าการแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินฯ ให้แก่กระทรวงการคลังยังไม่ครบถ้วน และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ แจ้งว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้แก่กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเสร็จสิ้นแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 กรมธนารักษ์ ได้มีหนังสือถึง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลังครบถ้วนตามที่กรมธนารักษ์และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันตรวจสอบและกระทรวงการคลังได้เห็นชอบแล้ว ขอให้รายงานศาลปกครองสูงสุดเพื่อทราบต่อไป หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด โดยมิได้รอผลรายงานการตรวจสอบของ สตง. โดยในคำร้องมีการกล่าวอ้างว่า "ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดดำเนินการเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด" และ "การดำเนินการของ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในการร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแบ่งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว" และได้แจ้งว่า "ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแบ่งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว" ซึ่งเป็นข้อกล่าวอ้างที่แจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญ เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง 3 ไม่ได้ร่วมกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สิน และในประเด็นเรื่องท่อก๊าซในทะเลยังมีข้อโต้แย้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ แต่ในคำร้องดังกล่าวมิได้ระบุถึงเรื่องท่อก๊าซในทะเลให้ศาลปกครองสูงสุดได้รับทราบข้อเท็จจริง และไม่ได้รายงานว่าประเด็นเรื่องท่อก๊าซในทะเลนั้น มิได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณา การยื่นคำร้องโดยการกล่าวอ้างข้อความดังกล่าว เป็นผลให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ว่า "พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว" ดังนั้น การยื่นคำร้องดังกล่าวจึงเป็นการแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นการกระทำโดยมิชอบ
"การที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 โดยไม่ปรากฏการแบ่งแยกทรัพย์สิน มูลค่า 32,613.45 ล้านบาท ให้แก่รัฐ รวมทั้งไม่ได้รายงานทรัพย์สินที่จะแบ่งแยกให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน ทำให้มีทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินคงเหลือที่ยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายขั้นต้นไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมิได้ถูกโอนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สินซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง" ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว
จากผลการตรวจสอบข้างต้น คตง. จึงมีมติให้ สตง. ดำเนินการดังนี้
๑. แจ้งคณะรัฐมนตรีให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่า การบังคับคดีที่ผ่านมายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามคำบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขดำที่ ฟ.๔๗/๒๕๔๙ และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.๓๕/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อให้มีการส่งมอบทรัพย์สินให้ครบถ้วนถูกต้องต่อไป
๒. แจ้งนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
๓. แจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการทางอาญาและทางวินัย ตามนัยมาตรา 44 และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
๔. แจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อดำเนินการทางอาญาและทางวินัยตามกฎหมายหรือตามระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนด ตามนัยมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง
๕. แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินคดีตามนัยมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
๖. แจ้งผลการตรวจสอบให้ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ก.พ. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
๗. แจ้งผลการตรวจสอบให้เลขาธิการ ปปง. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แก่บุคคลที่กระทำความผิดต่อไป
กลุ่มประชาสัมพันธ์และประสานราชการ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โทร. ๐ ๒๖๑๘ ๕๗๕๕