กทม. และการเคหะแห่งชาติ เตรียมที่ดินรองรับการรื้อย้ายชุมชนใต้สะพาน 615 ครอบครัว

ข่าวทั่วไป Thursday October 26, 2000 09:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--กทม.
นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันนี้ (25 ต.ค.43) กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาชุมชน สำนักสวัสดิการสังคม และสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมเตรียมความพร้อมการรื้อย้ายชุมชนใต้สะพาน ร่วมกับผู้แทนการเคหะแห่งชาติ ตัวแทนชุมชนใต้สะพาน และองค์กรเอกชน อาทิ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กลุ่มเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น ซึ่งความคืบหน้าในการรื้อย้ายขณะนี้ ชุมชนที่อาศัยบริเวณใต้สะพาน 72 สะพานทั่วกทม. รวม 615 ครอบครัว พร้อมที่จะย้ายเข้าอยู่ในที่ดินการเคหะแห่งชาติจัดเตรียมไว้ให้ ประมาณกลางเดือนมี.ค. - เม.ย.2544
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า ชุมชนใต้สะพานในกทม. กระจายอยู่ใน 25 เขต ซึ่งการเคหะแห่งชาติและ กทม.ได้พัฒนาที่ดิน จำนวน 3 แปลง สำหรับให้ชาวชุมชนเหล่านี้เข้าอยู่อาศัย โดยแห่งแรกตั้งอยู่ที่เขตทุ่งครุ ดำเนินการพัฒนาไปได้ประมาณ 82 % คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือน ธ.ค.43 จะมีชุมชนใต้สะพานย้ายเข้าอยู่อาศัย 231 ครอบครัว แห่งที่ 2 ตั้งอยู่ที่อ่อนนุช เขตประเวศ ขณะนี้ปรับปรุงแล้วเสร็จ 100 % จะมีชุมชนย้ายเข้าอยู่ 187 ครอบครัว แห่งที่ 3 ตั้งอยู่ที่เขตสายไหม ดำเนินการพัฒนาไปได้ประมาณ 92 % คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือน พ.ย.43 จะมีชุมชนย้ายเข้าอยู่ 197 ครอบครัว ทั้งนี้ที่ดินทั้ง 3 แปลงพร้อมรองรับการย้ายเข้าอยู่ภายในสิ้นปีนี้ แต่ชาวชุมชนใต้สะพานได้ขอผ่อนผันให้ทำการรื้อย้ายในช่วงเดือนมี.ค. — เม.ย.2544 เนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียน สะดวกต่อการย้ายที่อยู่อาศัย ในการนี้กทม.จะสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่ารื้อถอนตามความเป็นจริง แต่ไม่เกินครอบครัวละ 10,000 บาท
สำหรับที่ดิน 3 แปลงที่จะให้ชุมชนใต้สะพานย้ายเข้าอยู่นี้ เป็นที่ดินเช่าราคาถูกของการเคหะแห่งชาติ จัดสรรให้ครอบครัวละ 11 ตารางวา และ 18 ตารางวา สำหรับการทำสัญญาเช่า การเคหะแห่งชาติจะทำสัญญากับผู้แทนชุมชนแต่ละกลุ่ม ทั้ง 3 กลุ่ม โดยคิดค่าเช่าแบบเหมารวมแปลงละประมาณ 6,000 บาท/เดือน จากนั้นผู้แทนชุมชนแต่ละกลุ่มจะไปจัดเก็บค่าเช่าที่ดินจากครอบครัวต่าง ๆ ในกลุ่มของตนเอง ทั้งนี้ห้ามเก็บค่าเช่าเกินครอบครัวละ 300 บาท/เดือน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า กทม.ยังมีโครงการที่จะรื้อย้ายครอบครัวผู้บุกรุกกองขยะรามอินทรา จำนวน 26 ครอบครัว เข้าอยู่ในที่ดินรองรับฯ ที่เขตสายไหมด้วย ซึ่งเมื่อย้ายชุมชนดังกล่าวไปแล้ว กทม.จะดำเนินการปรับปรุงที่ดินบริเวณกองขยะรามอินทรา พื้นที่กว่า 60 ไร่ให้เป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม เกิดประโยชน์โดยรวมแก่ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง สำหรับพื้นที่ใต้สะพานภายหลังการรื้อย้ายชุมชนต่าง ๆ ออกไปแล้ว กทม.จะขอความร่วมมือจากชุมชนที่เคยอาศัยอยู่เดิม ให้กลับไปดูแลไม่ให้มีการบุกรุกตั้งที่อยู่อาศัยอีก รวมทั้งจะขอความร่วมมือจากสำนักงานเขตต่าง ๆ ให้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ใต้สะพานโดยการปลูกต้นไม้ หรือสร้างรั้วกั้น ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ คอยดูแลไม่ให้มีการตั้งชุมชนใต้สะพานอีกต่อไป--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ