กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--ZDNN.ZDNETTHAILAND.COM
ช็อกวงการคอมพิวเตอร์โลก เมื่อสองผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ของโลก ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 25 พันล้านดอลลาร์ ก้าวขึ้นเทียบชั้นไอบีเอ็ม
ข่าวการควบรวมกิจการระหว่างสองค่ายผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชั้นนำ ฮิวเลตต์-แพคการ์ด และคอมแพค คอมพิวเตอร์ สร้างความกังขาให้กับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความน่าเชื่อถือของเอชพี และการจัดการบริหารภายในที่ยังไม่ลงตัวจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างล่าสุด ที่กำลังกลายเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรายใหญ่ที่สุดของโลก ในขณะที่สถานการณ์ตลาดคอมพิวเตอร์ย่ำแย่ พร้อมกันนี้ การผนวกกิจการของสองยักษ์ใหญ่ อาจทำให้เกิดความไขว้เขวเกี่ยวกับการบริหารจัดการ รวมถึงตัวพนักงาน ที่อาจถูกลอยแพโดยไม่รู้ตัว เพื่อเป็นตามแผนต้นทุน ซึ่งผู้ที่จะเป็นผู้นำของบริษัทที่เกิดจากการควบรวมกิจการในครั้งนี้ก็คือ Carleton Fiorina ที่ดำรงตำแหน่ง Chairman และ CEO (Chief Executive Officer) ของบริษัทที่เกิดจากการควบรวมกิจการนี้ ส่วนนายใหญ่ของคอมแพคนั่นคือ Michael Capellas ก็จะดำรงตำแหน่ง President ของบริษัทใหม่ รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในห้าของบอร์ดคอมแพคที่จะเข้ามาเป็นบอร์ดของบริษัทใหม่นี้ด้วย ซึ่งทางด้าน Fiorina กล่าวว่า "การตัดสินใจควบรวมกิจการครั้งนี้ เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของเอชพีในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่หนึ่ง โดยการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าและคู่ค้าของบริษัท" ในขณะที่ Capellas กล่าวว่า "การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ นับเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์"
รายละเอียดของการควบรวมกิจการ คือ เป็นการแลกหุ้นระหว่างผู้ถือหุ้นของเอชพีและคอมแพค โดยผู้ถือหุ้นเดิมของคอมแพคจะได้รับหุ้นที่จะมีการเพิ่มเข้ามาใหม่ในอัตรา 0.6325 หุ้นต่อหุ้นเก่าของคอมแพคหนึ่งหุ้น โดยไม่มีการจ่ายเงินสดในการซื้อกิจการ ซึ่งหลังจากการแลกหุ้นเรียบร้อยแล้ว จะทำให้บริษัทที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้ มีผู้ถือหุ้นของเอชพีเดิมถือหุ้นอยู่ 64 เปอร์เซ็นต์ และผู้ถือหุ้นเดิมของคอมแพคมีหุ้นอยู่ทั้งหมด 36 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะจบดีลนี้ได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2002
บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะมีการแบ่งสายงานในการบริหาร 4 สายงานดังต่อไปนี้ คือ สายงานแรก Image and Printing ที่บริหารโดย Vyomesh Joshi ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานฝ่าย Imaging and Printing Systems จากเอชพี ส่วนสายงานที่สองก็คือ Access Device นำทีมบริหารโดย Duane Zitzner ปัจจุบันเป็นประธานฝ่าย Computing Systems จากเอชพีเช่นเดียวกัน สายงานที่สามคือ IT Infrastructure นำทีมโดย Peter Blackmore รองประธานฝ่ายงานขายและบริการจากคอมแพค และสายงานสุดท้ายคือ Service Business นำทีมโดย Ann Livermore ประธานของฝ่ายเซอร์วิสจากคอมแพค ส่วนผู้ที่จะมาเป็น CFO (Chief Financial Officer) ของบริษัทนี้คือ Robert Wayman ซึ่งเป็น CFO จากเอชพี
ในขณะเดียวกัน เสียงวิพากย์วิจารณ์จากการควบรวมกิจการของเอชพีและคอมแพคครั้งนี้ก็มีขึ้นเช่นกัน โดยนักสังเกตุการณ์วิจารณ์กันว่าการตัดสินใจครั้งนี้อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมนัก ที่จะหันมาเน้นการปรับโครงสร้างภายใน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการกล่าวเตือนคอมแพค หลังเข้าซื้อกิจการของดิจิทัล อีควิปเมนต์เมื่อ 3 ปีก่อนว่า ธุรกิจของคอมแพคจะเกิดปัญหาด้านการจัดการที่ไม่ลงตัว และต่อมาส่วนแบ่งตลาดพีซีและเวิร์คสเตชันที่เคยเพิ่มขึ้น ก็ปรับตัวลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ การควบรวมกิจการครั้งนี้ยังมีขึ้นในขณะที่สถานการณ์ความต้องการของตลาดพีซีตกอยู่ในภาวะซบเซา โดยนักวิจัยตลาดคาดว่ายอดขายพีซีในสหรัฐปีนี้จะลดลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และยอดจำหน่ายทั่วโลกจะปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี และที่ยิ่งไปกว่านั้นอาจกดดันให้คอมแพคและเอชพี ต้องลดอัตรากำลังคนของตัวเองลง รวมทั้งต้นทุนต่างๆ เพื่อแข่งกับการลดต้นทุนของเดลล์ และค่ายคู่แข่งอื่นๆ
ขณะนี้ รายได้ของคอมแพคเกือบครึ่งมาจากพีซี ส่วนของเอชพีก็มาจากพีซีและเซิร์ฟเวอร์คิดเป็นสัดส่วน 25 เปอร์เซ็นต์จากยอดขายทั้งหมด แต่พีซีก็ไม่ได้ทำรายได้ให้กับทั้งสองบริษัทเสียทีเดียว เนื่องจากเมื่อไตรมาสที่ผ่านมา เอชพีขาดทุนไปกับธุรกิจคอมพิวเตอร์เป็นมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ ขณะที่คอมแพคขาดทุน 155 ล้านดอลลาร์ สำหรับยอดขายพีซีและเซิร์ฟเวอร์ของสองบริษัททำรายได้รวมกันมูลค่า 32,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่ผ่านมา--จบ--
-สส-