กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--WelBest
"สงขลา" ผนึกกำลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมูลนิธิบุคคลพอเพียง จ.สงขลา เครือข่ายในพื้นที่ เดินหน้าความร่วมมือเครือข่ายอนาคตไทย ในโครงการรณรงค์ระดับชาติ ภายใต้ชื่อ "อย่าให้ใครว่าไทย" ลด ละ เลิก 4 พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ (โกง ฟุ้งเฟ้อ มักง่าย ขาดสติ) พร้อมเร่งปลูกฝังค่านิยมให้เยาวชนไทยลดความฟุ้งเฟ้อสนองนโยบายรัฐบาลหวังสร้างวินัยให้คนในชาติไร้หนี้ ไม่ฟุ้งเฟ้อ มีเงินออม
ณ ห้องประชุม 210 ตึกสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา นางวรรณวิมล ศุภประเสริฐ เลขาธิการ มูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมกับ รศ.ดร. ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, นายบันลือเดช ทองนุ้ย หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดสงขลา ผู้แทนจากสำนักงานจังหวัดสงขลา และ นางรติรส กาญจนธาน ผู้แทนจากมูลนิธิบุคคลพอเพียง จ.สงขลา ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการ "อย่าให้ใครว่าไทย" ในระดับภูมิภาคพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์ระดับชาติ พร้อมจัดงานเสวนาและเวิร์กช็อป "อย่าให้ใครว่าไทย" ตอน "คิดดี...มีตังค์" ซึ่งเครือข่ายอนาคตไทยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดขึ้น ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยมีนักศึกษารวมไปถึงเครือข่ายภาคประชาชนและภาคประชาสังคมใน จ.สงขลา เข้าร่วมกิจกรรมรวมกว่า 450 คน
นางวรรณวิมล ศุภประเสริฐ เลขาธิการ มูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวว่า "สืบเนื่องด้วยบรรดาองค์กรจากภาคส่วนต่างๆ ต้องการเห็นประเทศมีการพัฒนาที่ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ได้รวมตัวกันริเริ่มโครงการรณรงค์ ภายใต้ชื่อ "อย่าให้ใครว่าไทย" ขึ้น อันเป็นโครงการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุกให้คนบางกลุ่มในชาติ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ลดเลิกพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ สร้างจิตสำนึกและวินัยอันจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้ประเทศพัฒนาต่อไป โดยมุ่งเสริมทัศนคติและพฤติกรรมเชิงบวกใน 4 มิติคือ การเงิน สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย ซึ่งองค์กรก่อตั้งโครงการดังกล่าวประกอบด้วย มูลนิธิมั่นพัฒนา, สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี, กรมประชาสัมพันธ์, สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทย, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นอกจากนั้น ยังได้เชิญองค์กรจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา องค์กรธุรกิจ และสถาบันการเงิน เข้าร่วมเครือข่ายอนาคตไทย เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการ "อย่าให้ใครว่าไทย" ซึ่งเป็นกิจกรรมเริ่มต้นของเครือข่ายฯ โดยปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายรวมทั้งสิ้น 104 องค์กร"
"โครงการ "อย่าให้ใครว่าไทย" ต้องการเสริมค่านิยมที่ดีงามและเหมาะสมทั้งในด้านการดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคม ด้วยกลยุทธ์ "หนามยอกเอาหนามบ่ง" ผ่านการสื่อสาร และการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในรูปแบบการรณรงค์หรือแคมเปญ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในระดับต่างๆ ด้วยการกระตุ้นจิตสำนึกให้คนไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติและพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมกันในสังคมบนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศชาติ และสังคมโดยรวมอย่างยั่งยืน พร้อมส่งผ่านให้คนรุ่นหลังต่อไป โดยเริ่มต้นที่ภาพยนตร์โฆษณา 4 เรื่อง สะท้อนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของคนไทยในยุคปัจจุบัน ในด้านการเงิน สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้ 4 แกนหลัก ประกอบด้วย อย่าให้ใครว่าไทยฟุ้งเฟ้อ, อย่าให้ใครว่าไทย ขี้โกง, อย่าให้ใครว่าไทยไร้สติ และอย่าให้ใครว่าไทยมักง่าย โดยเน้นแนวทางการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบของการสร้างกระบวนการการเรียนรู้จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม"
"โดยแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกหรือนโยบายที่ทางเครือข่ายอนาคตไทยได้ดำเนินการในขณะนี้ คือการขับเคลื่อนโครงการให้ครอบคลุมสู่ระดับภูมิภาคเพื่อการขยายผลไปสู่กลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน และนักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป โดยก่อนหน้านี้เราได้ไปจัดกิจกรรมและประสบความสำเร็จอย่างยิ่งที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งตอบรับเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในส่วนภูมิภาค จังหวัดแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และวันนี้สงขลาก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ และนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ จ.สงขลา เห็นความสำคัญและเป็นจังหวัดนำร่องในกลุ่มภูมิภาคพื้นที่ภาคใต้ร่วมรณรงค์โครงการ "อย่าให้ใครว่าไทย" และการจัดกิจกรรมเสวนาและเวิร์กช็อป "อย่าให้ใครว่าไทย" ตอน "คิดดี...มีตังค์" ในวันนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโครงการ "อย่าให้ใครว่าไทย" ในระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่าง จ.สงขลา กับเครือข่ายอนาคตไทย และภายหลังจากนี้ ทางเครือข่ายอนาคตไทยจะได้ปรึกษากับ จ.สงขลา ถึงแนวทางในการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายอนาคตไทยต่อไป"
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี ภาคีหลักในการจัดกิจกรรมครั้งนี้กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีนโยบายปลูกฝังให้บัณฑิตมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์เพื่อจะไปเป็นพลเมืองของโลกที่ดี ปัจจุบันมีการปรับการสอนเป็น Active Learning โดยให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากขึ้น เพื่อให้มีการคิดเองวิเคราะห์ได้เอง ให้นักศึกษามีวินัย ใฝ่เรียนรู้ และมีจิตสาธารณะ มีการออกไปดูชุมชนเพื่อคิดแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ เราก็ยังมีโครงการทุนทำงานแลกเปลี่ยน พร้อมปลูกฝังเรื่องของการประหยัด มีการทำผักสวนครัวเพื่อรับประทานเองแทนการซื้อ ซึ่งจะเห็นว่าเราเน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมีการเรียนรู้และปรับใช้แนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในชีวิตประจำวัน เรามั่นใจว่าทางมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนโครงการ "อย่าให้ใครว่าไทย" ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน โดยเป้าหมายเบื้องต้นจะมุ่งเน้นในเรื่องการปลุกจิตสำนึกในด้าน "อย่าให้ใครว่าไทยฟุ้งเฟ้อ" โดยมุ่งเน้นไปที่เยาวชนและนักศึกษาไม่ให้หลงกับ วัตถุนิยมจนเกินไป จนทำให้รายได้ไม่พอรายจ่ายและไม่มีการออม ใช้เงินเกินตัว พร้อมเตรียมแผนในอนาคตที่จะบรรจุเรื่องการบริหารจัดการเงินนี้ในหลักสูตรการศึกษาด้วย"
ด้าน นายบันลือเดช ทองนุ้ย หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดสงขลาผู้แทนจากสำนักงานจังหวัดสงขลา กล่าวว่า "สืบเนื่องจาก จ.สงขลา ต้องการจะตอบสนองนโยบายที่รัฐบาลมุ่งเน้นด้านการพัฒนาคนซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของเครือข่ายอนาคตไทยที่มุ่งให้คนไทยทั้งประเทศได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ โกง ฟุ้งเฟ้อ มักง่าย และขาดสติ ซึ่ง จ.สงขลา มีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เครือข่ายอนาคตไทยติดต่อเชิญชวนให้ จ.สงขลา เป็นจังหวัดแรกในภูมิภาคพื้นที่ภาคใต้ที่จะร่วมขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าว โดยหลังจากนี้ จ.สงขลา จะจัดประชุมเพื่อหารือในการสร้างแนวร่วมเครือข่ายจากองค์กรในทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันพัฒนา จ.สงขลา รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนที่สอดคล้องกับทุนเดิมที่มีอยู่ในจังหวัด อาทิ โครงการโรงเรียนต้นแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง, โรงเรียนเกษตรอาหารกลางวันฯ เป็นต้น และที่สำคัญต้องเหมาะสมกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงใน จ.สงขลา ทั้งนี้เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศต่อไป" ขณะที่ นางรติรส กาญจนธาน ผู้แทนมูลนิธิบุคคลพอเพียง จ.สงขลา กล่าวเสริมว่า จ.สงขลา พร้อมสานต่อโครงการ "อย่าให้ใครว่าไทย" ในวันนี้ โดยจะขยายผลการดำเนินการในส่วนของการน้อมนำแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติจริงเพิ่มมากขึ้น ทั้งการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ นำความรู้และคุณธรรมมาเป็นภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตฯลฯ"
ทั้งนี้ ภายใน งานเสวนาและเวิร์กช็อป "อย่าให้ใครว่าไทย" ตอน "คิดดี...มีตังค์" ได้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อให้นักศึกษาและผู้ที่สนใจได้เกิดการเรียนรู้ ตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีกิจกรรมหลักเป็น เวิร์คช็อปเรื่อง "การบริหารจัดการการเงิน" ประกอบไปด้วยกระบวนการละลายพฤติกรรม กระบวนการกลุ่ม และกระบวนการระดมความคิด โดยตัวแทนจากเครือข่ายอนาคตไทย ร่วมด้วย เสนาลิง (สมเกียรติ จันทร์พราหมณ์), กฤตฎ์ อมรชัยฤกษ์ และตี๋ AF (วิวิศน์ บวรกีรติขจร) พร้อมดาราตลกหญิง หนูเล็กก่าก๊า (ภัทรวดี ปิ่นทอง) ซึ่งเป็นคน จ.สงขลา มาร่วมถ่ายทอดแรงบันดาลใจ และแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับหลักคิด การบริหารจัดการการเงิน รวมถึงการออมและหารายได้เสริม เพื่อกระตุ้นความคิดน้องๆ นักศึกษาและผู้ที่ร่วมงานให้ได้เห็นมุมมอง และวิธีคิดที่หลากหลาย ที่สามารถนำไปใช้ในเรื่องการเงินให้เกิดประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน
นางวรรณวิมล ศุภประเสริฐ เลขาธิการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวทิ้งท้ายว่า "สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้ เครือข่ายอนาคตไทยจะมีแผนการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการจัดกิจกรรมเวทีเสวนาใน 10 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และจะจัด Money Teen Expo ใน 4 หัวเมืองสำคัญของแต่ละภูมิภาค เพื่อสร้างค่านิยมที่ดีให้กับคนไทยทั่วทั้งประเทศ สนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้คนไทยมีคุณสมบัติของความเป็นคนไทยที่ดีในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน"