กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--PITON Communications
ในปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็นวัยรุ่นจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ทำดีไวซ์สูญหาย (17%) และถูกโจรกรรม (13%) ซึ่งผู้ใช้งานจำนวน 1 ใน 3 เข้าถึงบัญชีออนไลน์ไม่ได้ และต้องทนทุกข์จากการที่ข้อมูลส่วนตัวหายไป จากผลการวิจัยเรื่อง Consumer Security Risks Survey from scared to aware: Digital Lives In 2015 โดยแคสเปอร์สกี้ แลป และ บริษัท บีทูบี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พบว่า ผู้ใช้งานที่เป็นวัยรุ่นมักทำดีไวซ์สูญหายบ่อยกว่าผู้ใช้งานที่เป็นผู้ใหญ่
ขณะที่ผู้ใช้งานที่มีช่วงอายุต่ำกว่า 24 ปี จำนวน 1 ใน 7 (14%) เคยทำดีไวซ์สูญหายหรือถูกโจรกรรม ซึ่งตัวเลขนี้พุ่งขึ้นสูงถึง 26% โดยผู้ใช้งานที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 16-24 ปี จำนวน 83% ระบุว่าได้รับผลกระทบในเชิงลบตามมา ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป 77%
ผู้ใช้งานที่มีอายุ 16-24 ปี จำนวน 1 ใน 3 (32%) ที่มีบัญชีออนไลน์ถูกแฮ็กบัญชี (เปรียบเทียบกับ 27% ของค่าเฉลี่ย) โดยผู้ใช้จำนวน 1 ใน 4 ของทั้งหมดต้องทนทุกข์กับการที่รูปส่วนตัวและวิดีโอคลิปต้องหายไปอย่างถาวร (25%) รวมทั้งการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว (24%)
ผู้ใช้งานจำนวน 1 ใน 5 ต้องถูกอบรมทางวินัยจากบริษัทหลังจากที่ดีไวซ์สูญหาย-ถูกขโมยไป ด้วยประเด็นที่ว่า ในดีไวซ์นั้นมีข้อมูลทางธุรกิจของบริษัท (22%) นอกจากนี้ผู้ใช้งานจำนวน 1 ใน 5 สังเกตเห็นว่าข้อมูลทางการเงินที่เก็บไว้บนดีไวซ์มักถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด (21%)
การที่ดีไวซ์สูญหาย-ถูกโจรกรรมไป พบว่ามีผู้ใช้งานจำนวน 4 ใน 10 เท่านั้นที่ทำการบล็อกดีไวซ์ผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์หรือเข้าแจ้งความกับตำรวจ และมีเพียง 29% ที่ลบข้อมูลในดีไวซ์ตนเองจากระยะไกล (Remote Access) หรือพยายามติดตามเอาดีไวซ์คืนมาโดยใช้ซอฟต์แวร์ 'find my device' (15%)
เยฟจีนี เกอร์ยานอฟ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ แคสเปอร์สกี้ แลป กล่าวว่า "โมบายดีไวซ์กลายเป็นศูนย์กลางของชีวิต เป็นเหมือนเพื่อนที่สามารถพกพาไปได้ทุกที่ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ใช้จะเก็บข้อมูลความลับและข้อมูลส่วนตัวไว้ที่ดีไวซ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพของครอบครัว ข้อมูลธนาคารออนไลน์ ข้อความในอีเมลหรือพาสเวิร์ดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน"
"เมื่อดีไวซ์สูญหายหรือถูกโจรกรรมไป จะกลายเป็นศัตรูดิจิตอลที่ย้อนกลับมาทำร้ายเจ้าของได้อย่างง่ายดาย การที่ดีไวซ์หาย-ถูกขโมยไม่เพียงแต่ก่อความไม่สะดวกเท่านั้น แต่ยังทำให้ข้อมูลความลับและข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล เพราะฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ อย่างน้อยควรมีพาสเวิร์ดเพื่อป้องกันข้อมูลส่วนตัวที่ต้องเข้ารหัส และแอพพลิเคชั่นความปลอดภัยของโทรศัพท์มือถือที่อัพเดทอยู่เสมอ นอกจากนี้ การใช้ฟีเจอร์ป้องกันการโจรกรรม (Anti-theft) ที่เป็นส่วนหนึ่งของโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันภัยจากมือที่สาม จะช่วยบอกที่อยู่ของดีไวซ์และลบข้อมูลส่วนตัวในเครื่องถ้าหากจำเป็น เพื่อปกป้องผู้ใช้งานได้ในระยะยาว หากเกิดการสูญหายหรือถูกขโมยไป" เยฟจีนี กล่าวเสริม
เกี่ยวกับแคสเปอร์สกี้ แลป
แคสเปอร์สกี้ แลปก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 เป็นบริษัทระดับโลกที่เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ซึ่งความชำนาญพิเศษด้านภัยคุกคามที่ใช้เทคนิคเชิงลึก (deep threat intelligence) และระบบการป้องกันรักษาความปลอดภัยของแคสเปอร์สกี้ แลปได้ถ่ายทอดออกมาเป็นโซลูชั่นและบริการเพื่อการรักษาความปลอดภัยที่คอยให้การปกป้ององค์กรธุรกิจ โครงสร้างที่มีความสำคัญ องค์กรภาครัฐและผู้บริโภคมากมายทั่วโลก ทั้งนี้พอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาความปลอดภัยที่ครบถ้วนของบริษัทประกอบด้วยโซลูชั่นและบริการเพื่อการป้องกันเอนด์พอยนท์ รวมทั้งโซลูชั่นเฉพาะทางมากมายเพื่อรับมือภัยคุกคามทางดิจิตอลที่วิวัฒนาการขยายขีดความซับซ้อนยิ่งขึ้นทุกวัน ปัจจุบันเทคโนโลยีของแคสเปอร์สกี้ แลป สามารถปกป้องยูสเซอร์มากกว่า 400 ล้านคนทั่วโลก และเราได้ให้การช่วยเหลือลูกค้าองค์กรในการป้องกันสินทรัพย์ที่มีค่ายิ่ง อีกมากกว่า 270,000 แห่งทั่วโลก ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.kasperesky.com