รองผู้ว่าฯประพันธ์ ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล

ข่าวทั่วไป Tuesday October 3, 2000 10:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (2 ต.ค.43) เวลา 09.30 น. นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.ปิยเมธิ ยอดเณร รองปลัดกรุงเทพมหานครและคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล โดยมี นพ.มาโนชญ์ ลีโทชวลิต ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล พร้อมด้วยคณะแพทย์ให้การต้อนรับ ในการนี้ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฯ ได้บรรยายสรุปการดำเนินงานของวิทยาลัยฯ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อซื้อที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และอุปกรณ์ทางการแพทย์จัดสร้างเป็นสถานพยาบาลสำหรับประชาชนทั่วไป โดยพระราชทานนามว่า “วชิรพยาบาล” เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2455
ปัจจุบันวชิรพยาบาลใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล” อยู่ในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ 34 ไร่ มีเตียงรับผู้ป่วยได้ประมาณ 1,000 เตียง บริการผู้ป่วยนอกปีละ 660,000 บาท และผู้ป่วยในปีละ 37,000 บาท มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 2,600 คนเศษ เป็นแพทย์ประมาณ 200 คน พยาบาล 1,070 คน นอกจากนั้นเป็นเจ้าหน้าที่อื่น ๆ
ในส่วนของการให้บริการประชาชน นอกจากจะบริการตรวจโรคในเวลาราชการ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. แล้ว ทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฯ ยังได้เปิดคลีนิคนอกเวลาราชการอีกด้วย เป็นคลีนิคเฉพาะโรคที่เปิดบริการบางสาขา ได้แก่
วันจันทร์ — วันศุกร์ เวลา 06.00-08.00 น. รักษาโรคอายุรกรรม, โสต ศอ นาสิก , จักษุ , ศัลยกรรม , ศัลยกรรมกระดูก , เวชกรรมฟื้นฟู , กุมารเวชกรรม,รังสีรักษา , นรีเวชกรรม, ตรวจครรภ์ เวลา 16.00-20.00 น. ตรวจทันตกรรม
วันอังคาร เวลา 16.00-20.00 น. ตรวจจิตเวช , จักษุ , ระบบทางเดินหายใจ (อายุรกรรม)
วันพุธ เวลา 16.00-20.00 น. บริการศัลยกรรมกระดูก
วันเสาร์เวลา 08.00-12.00 น. บริการศัลยกรรมกระดูก, อายุรกรรม, กุมารเวชกรรม
จากนั้นคณะรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมส่วนต่าง ๆ ภายในวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฯ อาทิ ห้องตรวจผู้ป่วยนอก, ห้องตรวจศัลยกรรมกระดูก, กลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู , ฝ่ายแพทยศาสตร์ศึกษาและศูนย์วิจัย , หน่วยแพทย์กู้ชีวิต, ตึกซักฟอก , สวนสมุนไพร , ห้องสวนหัวใจ, ห้องจ่ายยา เป็นต้น พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานในส่วนต่าง ๆ
โอกาสนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตนปรารถนาจะให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาลแห่งนี้เป็นแม่แบบโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่อยู่ในสังกัดกรุงเทพมหานคร ในด้านการแพทย์และการให้บริการประชาชน เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือที่จะใช้ในการรักษาพยาบาล รวมถึงต้องการให้มีการประสานกันระหว่างบุคลากรในทีมสหวิชาชีพ เช่น แพทย์ จิตแพทย์ นิติแพทย์ สูตินรีแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้การช่วยเหลือ ดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นอกจากนี้ตนยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างจริงใจ เป็นผู้ที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี มีน้ำใจ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการเดินทางมารักษาในโรงพยาบาลของ กทม.ทุกแห่ง--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ